24 ธันวาคม 2554

เศรษฐศาสตร์ตะวันตกผลิตอะไรขายได้ก็กำไร?


เศรษฐศาสตร์ตะวันตกสอนให้เราผลิตอะไรขายก็ได้ที่มีคนซื้อในราคาสูงกว่าต้นทุน ก็เรียกว่ากำไรเสมอ

ลองนึกถึงคนขุดทองในอเมริกายุคตื่นทอง แค่เพียงใครขุดหรือร่อนไปเจอแร่ทอง แค่นั้นก็กำไรทันที เหมืองทับทิมในจันทบุรีก็เช่นกัน เป็นความรู้สึกที่น่าอัศจรรย์สำหรับคนสมัยนี้ เพราะแค่ค้นพบทรัพยากรธรรมชาติที่ยังไม่ได้แปรรูปเท่านั้น ก็ทำให้หลายคนรวยเป็นเศรษฐี

แล้วมันก็หมดไป ทุกวันนี้ทับทิมที่ซื้อขายในตลาดพลอยจันทบุรีมาจากพม่า วันนี้เรามีการใช้ทองที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มหาศาลคือในวงจรอิเล็กทรอนิคส์ แต่ทองไม่ได้หาง่ายเหมือนก่อนแล้ว


แม้การเผาป่าไม้ทิ้งก็ยังกำไร หากเพื่อเอาที่ไปปลูกปาล์มหรือถั่วเหลือง การผลิตที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่สร้างใหม่ไม่ได้ อย่างน้ำมัน แหล่งน้ำ หรือแร่ธาติต่างๆ คิดอย่างเศรษฐศาสตร์แบบเดิมอย่างไรก็กำไร


เราเคยชินกับการเผาน้ำมัน 1 ลิตรเพื่อขนของไปได้ระยะ 10 กิโลเมตรซึ่งกำไร ถ้าทำให้ใกล้คนซื้อมากขึ้นและเร็วขึ้น เพราะถ้าเราใช้คนขนจะใช้เวลาหลายชั่วโมงและเหนื่อยมาก น้ำมันเพียง 1 ลิตรมีพลังงานมโหฬาร เมื่อเทียบกับแรงงานมนุษย์ เมื่อเทียบกับค่าแรงพวกเราแล้ว ราคาน้ำมันนั้นถูกเหมือนได้เปล่า

ความจริงมันถูกเมื่อไม่ได้คิดต้นทุนของวัตถุดิบคือน้ำมันดิบที่อยู่ใต้ดิน

แนวคิดร่วมสมัยจึงเตือนให้เราคำนึงถึงต้นทุนของทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ไปในการผลิตด้วย น้ำมันเราซื้อมาก็จริง แต่ต้นทุนของมันมากกว่าราคานั้นมาก ค่าไฟเราจ่ายก็จริง แต่ถาม กฟผ. ดูก็จะรู้ว่าเขาใกล้จนปัญญาที่จะผลิตให้ได้มากกว่านี้แล้ว (นอกจากใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์)

เราจะตระหนักราคาที่แท้จริงก็ต่อเมื่อมันเหลือน้อยแล้วแบบทอง หรือหมดไปแล้ว อย่ารอว่าต่อไปเราจะมีเทคโนโลยีที่ดีกว่านี้ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีเราไม่พอ แต่คือวิธีคิดที่ผิดธรรมชาติ ไร้เหตุผล และเห็นแก่ตัวอย่างที่สุดต่างหาก

15 ธันวาคม 2554

ใครปั่นหัวเรา


คุณเชื่อผมไหมว่า ทักษิณไม่ได้เลวเท่าที่คุณคิด
คุณเชื่อผมไหมว่า อภิสิทธิ์หรือป๋าก็ไม่ได้เลวขนาดนั้น
ลองทบทวนดูจะรู้สึกไหมว่า ในประวัติศาสตร์
ก็ไม่มีใครเลวขนาดที่เรากำลังรู้สึกอยู่กับคนคนนั้น
มันเป็นความรู้สึกที่เกินความจริงไปมากมายหลายเท่า

บางคนอธิบายว่าเรากำลังเป็นเหยื่อของการถูกปั่นหัวด้วยข้อมูลเท็จ
แต่ทุกฝ่ายต่างก็รับข้อมูลชุดเดียวกัน ทั้งจริงและเท็จ
แต่เลือกที่จะเชื่อบางส่วนที่เข้ากันได้กับความเชื่อของตัวเองมากกว่า
บ่อยครั้งที่เราไม่สนใจว่าข้อมูลที่เราเชื่อจะจริงหรือเท็จด้วยซ้ำไป
บางครั้งแม้มารู้ทีหลังว่าข้อมูลที่เราเชื่อไปแล้วนั้นเป็นเท็จ
เรายังบอกว่า "ก็ไม่เสียหายอะไร เขาก็ยังเลวมากอยู่ดี"

ปรากฏการณ์ทางสังคมนี้มาจากความบกพร่องของมนุษย์
ที่เรียกว่า Confirmation bias ทุกคนในสนามแห่งความขัดแย้งนี้
เริ่มต้นด้วยความเชื่อที่แตกต่างกันเพียง 2 เรื่อง
คือ ทักษิณโอเคหรือไม่ กับ รัฐประหารโอเคหรือไม่ 
หลังจากนั้นคนที่เชื่อว่าทักษิณโอเค
ก็จะเชื่อเฉพาะข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับทักษิณ
หลังจากนั้นคนที่เชื่อว่ารัฐประหารครั้งนั้นโอเค
ก็จะเชื่อเฉพาะข้อมูลที่ยืนยันว่ารัฐประหารครั้งนั้น
เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย

ความจริงมีคนกลุ่มที่สาม ที่เชื่อว่ารัฐประหารเลวร้าย
และทักษิณฉ้อฉล แต่อำนาจของ Groupthink
ก็ทำให้เขายอมรับว่า ทักษิณโอเค ไปด้วย
โดยอาศัยวาทกรรมเช่น
"อย่างไรทักษิณก็ไม่เลวร้ายเท่ารัฐประหาร"

ผมไม่เคยเชื่อวาทกรรมว่า
"พวก...ถูกปั่นหัว ถูกใช้เครื่องมือ"
วาทกรรมที่ทุกฝ่ายใช้กับฝ่ายตรงข้าม
ผมไม่เชื่อว่าแกนนำม็อบปั่นหัวแนวร่วม และใช้แนวร่วมเป็นเครื่องมือ
ผมเชื่อว่าแกนนำเชื่ออย่างนั้นจริงๆ
สุดท้ายจริงๆ ไม่มีใครปั่นหัวใคร
ด้วย confirmation bias
เรานั่นแหละ ที่ปั่นหัวตัวเอง.

14 ธันวาคม 2554

สมมุติฐานที่ผิดเกี่ยวกับคุณค่าของการมีทางเลือก


สิ่งหนึ่งที่ผู้ใหญ่เรียนรู้เมื่อโตขึ้นคือ เรื่องที่ผู้ใหญ่เล่าตอนเราเด็กๆ ไม่จริงเสียเยอะ ราหูไม่ใช่คนมาอมพระจันทร์และพระอาทิตย์ นอนดึกไม่มีผีมาหลอก ทำของตัวเองเสียหายไม่มีตำรวจมาจับ เมื่อโตขึ้นเรารู้ว่าราหูก็คือโลก ผีก็ไม่มี และตำรวจก็ไม่มีด้วยซ้ำไป :P

ดังนั้นสิ่งที่ผู้ใหญ่ทุกคนควรทำคือทบทวนเรื่องที่ถูกหลอกมาในตอนเด็ก สมมติฐานทุกเรื่องที่พ่อแม่และผู้ใหญ่ในวัยเด็กของเรา ไม่มีโอกาสได้เฉลยให้เราฟัง

สิ่งหนึ่งที่เราถูกผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลอกคือ อเมริกันคือสุดยอด คือปลายทางในการพัฒนาประเทศของเรา เราจึงรับวิธีคิดแบบอเมริกันไว้ครึ่งหัว จนถึงทุกวันนี้ จนมองภาพไปอย่างอื่นไม่ออก อย่างอุดมการณ์สูงสุดของอเมริกันคือการมีทางเลือก น่าแปลกไหมว่าคนไทยก็เชื่อตามนั้นไปแล้ว อย่างมองเป็นอย่างอื่น คือการไม่มีทางเลือก หรือมีทางเลือกน้อย หรือให้คนอื่นเลือก ไม่ออกเลยว่ามันดีอย่างไร ใช่ไหม?

ซีน่า ไอแยการ์ ชาวอเมริกันทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง "ทางเลือก" ทำให้เราเห็นว่าวิธีคิดแบบตะวันตก และตะวันออก นั้นแตกต่างไปอย่างมีเหตุผล และมีความเป็นมาที่เหมาะสม ทั้งชี้ให้เห็นด้วยงานวิจัยอย่างปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทางเลือกไม่ได้มากับความสุขเสมอไป การฝากทางเลือกไว้ที่สังคมและผู้ใหญ่ตามแบบตะวันออก ก็มีความเหมาะสมของมัน

เป็น TED Talks ที่น่าสนใจมากๆ เหมาะสำหรับคนที่เชื่อมั่นในหนทางตะวันตก ลองฟังฝรั่งดูบ้างจะได้มองเห็นว่านักวิชาการฝรั่งมักจะชอบวิถีชีวิตแบบตะวันออก ขณะที่ตรงข้ามนักวิชาการไทยบางคนจะชอบวิถีชีวิตแบบตะวันตก


Sheena Iyengar on the art of choosing

12 ธันวาคม 2554

คนในสังคมนั้น

ในสังคมที่ไม่เชื่อในความดี ไม่เชื่อในการรักษาความดี
ในสังคมที่ชื่นชมการทำผิดจริยธรรม ยอมรับได้กับคอรัปชัน
ในสังคมที่ติเตียนความดี ด้วยข้อกล่าวหาว่ามือถือสากปากถือศีล
คนในสังคมนั้นจึงใช้มือถือสากปากถือสากเข้าหากัน
ในนามของความจริงใจ และยอมรับสากของกันและกันว่าดี
พวกเขาเชื่อว่าเป้าหมายสำคัญกว่าหนทาง
และยอมรับว่าจะใช้วิธีการใดก็ได้เพื่อให้ถึงเป้าหมาย
ในสังคมที่ความจริงไม่มีความหมาย เพราะขึ้นอยู่กับใครมอง
เพราะข้อมูลที่รับรู้กันจะถูกดัดแปลงไปทีละน้อยตลอดทาง
เพื่อช่วยเพิ่มความสำเร็จของเป้าหมาย
เพราะเป้าหมายสำคัญว่าหนทาง
และความตรงไปตรงมาเป็นเรื่องน่าขบขัน
ในสังคมที่ไม่เห็นค่าของสัจจะ คงหาสัจจะได้ยากเกินไป

11 ธันวาคม 2554

โลกไม่ได้เป็น zero-sum game เสมอไป

พักหลังเห็นคนชอบวาดภาพโลกแบบ zero-sum game และใช้มันกับทุกเรื่อง แต่ไม่จริงหรอก อย่างแต่ก่อนคนอาจมองว่านักธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันจะต้องแข่งกันเพื่อแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด แต่เดี๋ยวนี้นักธุรกิจกลับชอบคลัสเตอร์กันเพื่อทำให้ตลาดมันโตขึ้นด้วยซ้ำไป หรือเพื่อให้ตัวเองมีประสิทธิภาพมากขึ้นมีต้นทุนลดลง

คำถามคือเมื่อไหร่ที่โลกรอบตัวเราจะเป็น zero-sum game?

  • ถ้าเราเป็นผู้บริโภค โลกนี้จะเป็น zero-sum game เราต้องแย่งเอามาให้ได้มากที่สุดก่อนที่มันจะหมด นึกถึงน้ำมัน ไม้ ทอง และน้ำขวดหรือเรือในช่วงมหาอุทกภัยเป็นตัวอย่าง 
  • แต่ถ้าเราเป็นผู้ผลิต โลกก็จะเป็น non-zero-sum game ไม่จำเป็นที่คนหนึ่งได้แล้วอีกคนหนึ่งจะต้องเสีย หากทุกคน "ให้" คุณค่าบางอย่างออกไป นึกถึงอาหาร แรงงาน เวลา ความคิดสร้างสรรค์ หรือกำลังใจ
ไม่ว่าเราจะผลิต หรือให้บริการอะไร หรือใช้แรงงานไปเพื่อขับเคลื่อนสังคมให้ดำเนินไปตามหน้าที่ความรับผิดชอบขอบแต่ละคน หรือเราจะค้าขายเพื่อให้คนอื่นได้รับสินค้าและบริการจากอีกคน กิจกรรมเหลานี้ทำให้เกิดคุณค่ามากขึ้นกว่าหากไม่ได้ทำ หรือเพียงการที่เราให้เวลากับคนอื่นอย่างที่เรียกว่าการสังสรรค์ แต่ละคนต่างเสียเวลาไป แต่คุณค่าที่ได้กลับมาย่อมมากกว่าหากเราตัดสินใจใช้เวลากับสิ่งอื่น มิฉะนั้นเราคงไม่ทำกันบ่อยๆ ลองนึกถึงการให้เวลากับลูก หรือแม้แต่กับหมาหรือแมว ทั้งเราและเขาต่างก็ได้โดยที่ไม่มีใครเสีย

สังคมที่ซับซ้อนและพึ่งพากันมากๆ จะมีแนวโน้มเป็น non-zero-sum มากกว่าสังคมที่ต่างคนต่างอยู่
การมองโลกแบบ zero-sum หรือ non-zero-sum มีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมของเราในสถานการณ์ต่างๆ หากเรามองสถานการณ์ตอนนั้นเป็นแบบ zero-sum เราก็จะพยายามแย่งเอามาให้ได้ก่อนคนอื่น แต่หากเรามองสถานการณ์ตอนนั้นเป็นแบบ non-zero-sum เราจะพยายามสร้างคุณค่าให้กับคนอื่น เพื่อที่ทุกคนจะได้ win-win

เป็นไปได้ไหมว่า เราอาจจะประเมินสถานการณ์บางอย่างผิด จากที่จริงเป็น non-zero-sum แต่เราเข้าใจว่าเป็น zero-sum ผลก็คือต่างคนต่างจะแย่งคุณค่าจากสนามนั้นไปจนหมด ทั้งที่จริงแล้วมันจะเติบโตและรุ่งเรืองต่อไปได้มาก แต่เมื่อทุกคนต่างคิดว่า "เดี๋ยวหมด" จึงแย่งกันจนมันหมดไปจริงๆ ดีไม่ดี ประเทศไทยอาจกำลังอยู่ในสภาพนั้นหรือเปล่า

ความคิดสร้างสรรค์

บริษัทเทคโนโลยีสมัยใหม่ยืนอยู่บนความคิดนี้อย่างสุดขั้ว เพราะไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำไปว่าตลาดไอทีจะขยายไปถึงไหน มันเริ่มครอบคลุมเข้ามาในชีวิตประจำวันของเราเกือบทั้งชีวิตแล้ว พวกเขาชอบที่จะสร้างเครื่องมืออะไรสักอย่างเพื่อให้พวกเราทำงานได้ดีขึ้น บ่อยครั้งที่สร้างให้ฟรีๆ ด้วยซ้ำไป แต่ถ้าเข้าใจว่าในสนามแห่งความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งเราทำประโยชน์ให้คนอื่นได้มาก เขาก็ยอมจ่ายให้เรามากเช่นกัน

จริงๆ Apple นั่นเองที่เป็นที่มาของบทความนี้ มีคนบอกว่า ไม่มีธุรกิจอะไรดีไปกว่าการทำประโยชน์ให้คนอื่น เพราะ Apple ได้สร้างอะไรมากมายให้เราใช้งานในชีวิตประจำวัน เพราะสิ่งนั้น Apple จึงกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ทั้งหมดโดยแทบไม่ต้องไปแย่งตลาดจาก Microsoft หรือ IBM ตลาดไอทีโลกเป็น non-zero-sum อย่างชัดเจน เพราะทุกคนสร้างสิ่งใหม่ตลอดเวลา

สำหรับชีวิตส่วนตัวของเราเอง ผมเชื่อว่าการมองแบบ zero-sum ตลอดเวลาทำให้เราเป็นทุกข์เปล่าๆ แล้วสุดท้ายก็ทำลายสนามที่จริงๆ เป็น non-zero-sum ไปเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าหากเรามองหาสนามที่เป็น non-zero-sum อยู่เสมอ เราจะพบมันอยู่รอบตัวตลอดเวลา


Kuwait Finance

10 ธันวาคม 2554

สนามรบแห่งอุดมการณ์

สงครามเป็นความอัปลักษณ์ของอารยธรรมมนุษย์
เวลาที่เราฆ่าอีกคนหนึ่งได้ในนามแห่งความรักแผ่นดิน 
คนหนึ่งมีความเป็นธรรมที่จะฆ่าคนอีกคนได้เมื่อไหร่ 
เชื่อไหมว่า "ความเป็นธรรม" ที่ว่านั้นเปลี่ยนไปตามเวลา 
ทหารเยอรมันสมัยนาซีผ่านนาทีนั้นไปแล้ว
ยังไม่เข้าใจว่าทำสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร
ทหารเขมรแดงก็เช่นเดียวกัน
เพราะเราจะทำร้ายคนอีกคนในนามของความถูกต้องเสมอ

สังคมไทยกำลังยืนอยู่ที่ประตูสนามรบแห่งนั้น
เราจะหยุดและเริ่มเดินถอยหลัง
หรือจะมุ่งไปสู่ความล่มสลาย เพื่อจะเริ่มต้นใหม่
บนซากศพและซากปลักหักพังของวัฒนธรรมที่ไม่เคยได้วัฒนา

-- 10 ธันวาคม 2554 - วันรัฐธรรมนูญ

เราควรจะรู้สึกอย่างไรในวันรัฐธรรมนูญ?

วันนี้วันรัฐธรรมนูญ พร้อมกับเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ตามแบบสลิ่มเฟซบุ้คก็ต้องพึ่งโหนต่องแต่งให้มาฟันธงว่าชีวิตฉันจะเป็นอย่างไรต่อไป

สังคมมืดมัว โหนคนหนึ่งทำนายไว้ โหนส่วนใหญ่ทำนายว่าจะเกิดภัยภิบัติใหญ่กับแผ่นดิน บุคคลสำคัญ การค้า การเงิน และวงการบันเทิง ฯลฯ ทายกว้างขนาดนี้ยังไงมันต้องถูกสักอย่างเพราะ "shit happens" ได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในรัฐล้มเหลวอย่างไทย เราจึงยังต้องพึ่งคนที่จะชี้ทางให้เราได้อย่างโหน หมอดู หรือริว จิตสัมผัส เพราะอาจจะมีพลังงานหรือวิญญาณอยู่ในราชดำเนินก็เป็นได้

เราควรจะรู้สึกอย่างไรในวันรัฐธรรมนูญ?

เราควรเฉลิมฉลองที่เราก็มีรัฐธรรมนูญกับเขาเหมือนกัน หรือดีใจยิ่งกว่านั้นที่มีถึง 18 ฉบับ ใน 79 ปี เรียกว่าเขียนกันใหม่กันทุก 4 ปีกันเลยทีเดียว จะเป็นเพราะเรามีนักกฏหมายมหาชนมือฉกาจหรือเปล่าคงไม่ใช่ แต่คงเป็นเพราะพวกเราอ่อนแอกันมากกว่า

หรือว่าเราควรจะไว้ทุกข์ให้กับรัฐธรรมนูญ เพราะจะว่าไปรัฐธรรมนูญบ้านเราก็แปลก แทนที่จะวางหลักการสำคัญๆ เอาไว้ในสังคมเห็นวิชันปลายทางในอนาคตของประเทศร่วมกัน กลับกลายเป็นวิธีบังคับให้นักการเมืองทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำ เนื่องจากว่าเราไม่มีทางกำหนดทิศทางของนักการเมืองหลังจากที่ได้รับการเลือกตั้งไปบริหารบ้านเมืองแล้ว เหมือนกับประเทศอื่น พักหลังนี้ประชาชนเลยต้องทำทุกวิธีเพื่อที่จะได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม ประมาณว่าสามารถบังคับให้นักการเมืองเดินไปตามทางที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่เคยสำเร็จสักครั้ง ทุกวันนี้เราก็ยังฝันถึงรัฐธรรมนูญใหม่ที่ดีกว่านี้ขึ้นไปอีก เหมือนเราเป็น "กบเลือกรัฐธรรมนูญ" อย่างไรอย่างนั้น สุดท้ายก็ถูกนกรัฐประหารเอาไปกินเหมือนเดิม

ลองทบทวนดูแล้วหากเรามีนักการเมืองที่ดีเหมือนในประเทศอื่น คำว่าดีหมายถึงทำเพื่อส่วนร่วมด้วย และต้องหน้าบางด้วย ถ้าเรามีคอมมูนิตี้ของนักการเมืองแบบนั้น เราก็ไม่ต้องสนที่จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีก เพราะนักการเมืองจะเดินไปในเส้นทางที่ถูกได้เอง เส้นทางเช่นการกระจายอำนาจ การปฏิรูประบบราชการ และกระบวนการยุติธรรม หลายๆ เรื่องที่เราไม่มีทางได้เห็นในสังคมนี้

ผมเชื่อวลีที่ว่า ประชาชนเป็นอย่างไร ก็ได้นักการเมืองอย่างนั้น ดูละคอนหนังข่าว แล้วย้อนมาดูตัว ก็จะเข้าใจว่านักการเมืองน้ำเน่าเข้ามาได้อย่างไร เพราะคนไทย (และประเทศ ASEAN ส่วนใหญ่) เป็นพวกที่ใช้อารมณ์ดราม่า มากกว่าเหตุผล มากกว่าผลประโยชน์ของตัวเองด้วยซ้ำไป ผมเชื่อว่าถ้าทุกคนเห็นแก่ผลประโยชน์ของตัวเอง เราจะได้นักการเมืองที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม แต่หากเรายัง "ฆ่าได้ หยามไม่ได้" หรือมีความรู้สึกไม่สบายใจเวลา "ครงนี้ท่วม แต่ตรงนั้นไม่ท่วม" หากพวกเราตัดสินใจด้วย Groupthink อย่างทุกวันนี้

เผารัฐธรรมนูญทิ้งก็ได้ครับ

ดืมน้ำเกลือแร่หรือน้ำอัดลมทำให้อ่อนเพลียเหนื่อยล้าง่วงงุน

ในทางการแพทย์ทราบกันมานานแล้วว่าการบริโภคน้ำตาลไม่ได้ทำให้ร่างกายสดชื่ีน แต่ตรงกันข้ามทำให้เหนื่อยและง่วงซึม (กำ! ถ้าคนรู้กันหมดแล้วสปอนเซอร์เกเตอเรด โค้ก เป็ปซี่ ฯลฯ จะขายได้ไง) แต่สมัยก่อนจะอธิบายว่าน้ำตาลทำให้อินซูลินออกมาเยอะเกินไปจนน้ำตาลต่ำเลยทำให้เพลีย

แต่บทความนี้เล่าถึงการทดลองเมื่อเร็วๆ นี้ที่ค้นพบว่า การบริโคคน้ำตาลทำให้ Orexin ในสมองลดน้อยลง ซึ่งทำให้รู้สึกเหนื่อย แต่การบริโภคโปรตีนต่างหากที่ทำให้ Orexin สูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น หากกินโปรตีนพร้อมน้ำตาล ฤทธิในการลด Orexin ของน้ำตาลจะหายไปด้วย

จริงๆ มนุษย์ยังไม่มีความเข้าใจกระบวนการย่อยอาหารของตัวเองเลย ได้แต่สังเกตผลจากการทดลองเอา แต่ลอจิคง่ายๆ อย่าง "ร่างกายใช้น้ำตาลเป็นพลังงาน ดังนั้นเมื่อเหนื่อยต้องกินน้ำตาลเพื่อชดเชยโดยเร็ว" ร่างกายของเรามันไม่ตรงไปตรงมาขนาดนั้น

ในบางประเทศรัฐบาลเริ่มโปรโมตให้เวลาหลังออกกำลังกายหันมา "ดื่มนมช็อคโกแลต" แทนที่จะเป็นน้ำเกลือแร่หรือน้ำอัดลมซึ่งมีปริมาณน้ำตาลสูงมาก น่าแปลกว่าแม้ร่างกายเราจะรู้สึกเหนื่อยล้าเมื่อกินน้ำตาลเข้าไปปริมาณมากขนาดนั้น แต่ตัวเรากลับรู้สึกดี นอกจากว่าเพราะอร่อย อาจจะเป็นเพราะอำนาจของโฆษณาหรือเปล่า (เห็นเล่นกีฬาแล้วต้องน้ำเกลือแร่ทุกทีซิ) ถ้างั้นก็ "placebo effect" เอาไปกินอีกแล้วนะพวกเรา ^__^!!

  1. Why Sugar Makes You Tired (and What You Can Do About It
  2. What Sugar Actually Does to Your Brain and Body