21 มกราคม 2555

Linux ครองโลกเรียบร้อย

วันนี้เจอคอมเมนต์หนึ่งในกระทู้พันทิบทำให้ผมตกใจมากว่า ถีงปี 2012 แล้ว ยังมีคนเข้าใจแบบนี้อยู่อีก
สมัยนี้ ลินุกซ์ มัน "ตาย" แล้ว

ถ้าเป็นเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว ผมก็คงไม่แปลกใจ แต่ทุกวันนี้ Linux อยู่รอบตัวเราจนถ้าอยากจะหนีก็มีชีวิตอยู่ไม่ได้แล้ว ในคอมมูนิตี้ของ Linux สมัยแรกๆ เรามีเป้าหมายที่จะครองโลก (World domination) แล้วพลังมดทั้งโลกก็มุ่งไปทางนั้นอย่างสนุกสนาน ปีที่แล้ว Linus Torvald บิดาของ Linux บอกว่าภารกิจนั้นเสร็จสิ้นแล้ว เพราะ Linux อยู่ทุกหนทุกแห่ง ปัจจุบันไม่มีใครสงสัยแล้วว่า Linux เป็น operating system ที่มี "ผู้ใช้" มากที่สุดในโลก ชนะขาดชนิดที่ OS อื่นเทียบไม่ติด

แต่เวลาคิดเรื่องนี้ต้องออกจากกะลา (กรอบความคิด) อันหนึ่งก่อน ว่า "ผู้ใช้" ในโลกนี้ไม่ได้ใช้แต่พีซี คนใช้พีซีเป็นคนส่วนน้อยนิดเมื่อเทียบกับผู้ใช้ device ที่เกิดขึ้นใหม่ในไม่กี่ปีหลังๆ นี้ กะลาอีกอย่างที่ต้องทิ้งไปคือ Linux ใช้ยาก เพราะ Linux เป็น OS kernel ที่ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้เท่านั้น ส่วน user interface (UI) ก็แล้วแต่ใครจะจัดลงไป

device ที่ทำให้ Linux มีผู้ใช้มากที่สุดในโลกก็คือ โทรศัพท์มือถือ dumb phone และ feature phone เกือบทั้งหมดใช้ Linux มีใครบ่นว่ามันใช้ยากไหม ทำไมต้องเป็น Linux? ก็เพราะถ้าคุณจะรัน Windows โทรศัพท์ก็จะต้องแรงขนาดราคาเกินหมื่นและก็ยังทำงานช้ามากอยู่ดี เชื่อไหมว่า โทรศัพท์ทื่อๆ ที่อากงใช้ส่ง SMS เป็นหรือไม่เป็นนั้น ก็เป็น Linux เมื่อนับ feature phone ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แล้ว บวกกับ Android smartphone และ tablet ซึ่งก็เป็น Linux เท่านี้ก็มากกว่าจำนวนพีซีที่รัน Windows แล้ว

ยังมี device อีกมากมายที่ทำงานด้วย Linux โดยผู้ใช้ไม่สังเกตแบบเดียวกับมือถือ อย่างเราเตอร์ที่เราใช้ต่ออินเทอร์เน็ตทุกตัว เรื่อยไปจนถึง TV จอแบนสมัยใหม่และ Internet TV และ TV ในเครื่องบิน ไปจนถึง set-top box ที่เราใช้ดูเคเบิ้ลทีวี สรุปว่า embedded device (device ที่ไม่ค่อยมี UI) เกือบทั้งหมดใช้ Linux จะมีก็แต่เครื่อง ATM ในบ้านเราเท่านั้นที่เห็นใช้ Windows อยู่

ฝั่งเซิรฟเวอร์ยิ่งไม่ต้องพูดถึง server ในองค์กรขนาดใหญ่ส่วนใหญ่เป็น Linux และกว่า 60% ของ web server เป็น Linux ก็ใครจะกล้าเสี่ยงเอาข้อมูลสำคัญไปไว้บน Windows ใช่ไหมครับ และถ้านับเฉพาะเว็บที่เราเข้าประจำอย่าง Google, Twitter, Facebook, ... และเว็บดังของไทยทั้งหมด ตัวเลขนี้ก็จะเป็น 100%

ทำการทดลองเปรียบเทียบความสำคัญของ OS

ถ้าอยากจะวัดความสำคัญของ OS เช่นเทียบกันระหว่าง Linux กับ Windows (หรือ Mac OS X ด้วยก็ได้) มาลองทำการทดลองทางความคิด (thought experiment) ดังนี้

  1. สมมุติว่าเรามีอำนาจทำให้ OS ชนิดหนึ่ง หยุดทำงานได้พร้อมกันทั้งโลก
  2. ครั้งแรก ลองนึกว่า ถ้าเราหยุดการทำงานของ Windows ในพีซี เซิรฟเวอร์ และ smartphone ทั้งหมดทั่วโลกพร้อมกัน รวมทั้ง ATM ในบ้านเรา จะมีผลกระทบอย่างไรต่อเราบ้าง
  3. คราวนี้ ลองนึกว่า ถ้าเราหยุดการงานของ Linux ใน device ทุกชิ้นไม่ว่าจะเป็นพีซี เซิร์ฟเวอร์ ทั้งเซิร์ฟเวอร์ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และการประปานครหลวงใช้ และเว็บเซิร์ฟเวอร์ส่วนใหญ่ ซึ่งคือเว็บที่เราใช้ทุกตัว รวมทั้งเราเตอร์ของเราและของ ISP ไปจนถึง โทรศัพท์ ทีวี รวมทั้ง device ที่ฝังอยู่ในรถ เครื่องบิน รถไฟฟ้า เครื่องเก็บเงินในห้างร้าน ฯลฯ
เมื่อทำการทดลองนี้แล้วเราจะตอบได้ทันทีว่า ขาด Linux ก็คือหายนะพอๆ กับโลกแตกเลยทีเดียว ตอนนี้เห็นภาพแล้วใช่ไหมว่า Linux เป็น OS ที่มีความสำคัญต่อมนุษย์มากที่สุด มีคนใช้มากที่สุด เว้นแต่ว่าคุณจะรู้จักคอมพิวเตอร์แต่เฉพาะที่เป็นเครื่อง PC

ประเด็นสำคัญที่ผมอยากย้ำคือ ทุกอย่างมีหน้าที่ของตัวเองในสังคม ทั้ง device, Linux, Windows และผู้ใช้ ชีวิตเราอยู่ได้ด้วยการประสานกันของเรา สังคม และสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยีเหล่านี้ การมีทางเลือกเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชีวิตเติบโตขึ้นมาด้วยการคัดสรรค์ทางธรรมชาติ มิฉะนั้นเราก็จะสูญพันธุ์ การมีซอฟต์แวร์หรือ OS หลายแบบเป็นเรื่องที่สวยงามและสร้างสรรค์ ยิ่งทุกวันนี้ OS มีความสำคัญต่อชีวิตเราพอๆ กับน้ำ ถนน หรือไฟฟ้า เพราะมันทำให้ device ทุกชนิดทำงานได้ ไม่งั้นมันก็เป็นแค่วัตถุ ผมจึงอยากให้เราเห็นความสำคัญของมัน 

Windows ถูกพัฒนาด้วยแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ และมีความก้าวหน้าที่ยอดเยี่ยมในฝั่งเดสก์ท็อป (แต่อาจจะแพ้ Mac OS X?) แต่ Linux ถูกพัฒนาขึ้นด้วยความรักของคนเป็นแสนเป็นล้าน ที่เขียนโค้ด และรายงานบั้ก จนได้เป็น OS ที่ทำงานได้อย่างไม่ผิดพลาด เหมาะกับงานที่สำคัญต่อชีวิตและทรัพย์สิน แม้ว่าอาจจะยังไม่เหมาะให้เราใช้บนพีซี

แต่สำหรับผม ผมรู้สึกขอบคุณทุกครั้งที่ตระหนักถึงความคิดที่ว่า ซอฟต์แวร์ที่ยอดเยี่ยมชิ้นนี้ สร้างขึ้นด้วยอาสาสมัครล้วนๆ ขอบคุณ engineer ทุกคนที่โค้ดแต่ละบรรทัด และขอบคุณ Linus ที่ตั้งโครงการนี้ขึ้นมา