กลับมาอ่านบทความของคุณศิรส เลยถือโอกาสสรุปความเห็นฟันธงสักหน่อย
คนรุ่นใหม่ไม่สนใจภาษาอังกฤษ
คน Generation X อย่างผมจะโตมากับวัฒนธรรมอเมริกัน ดูหนังฟังเพลงฝรั่ง ทีวีขาวดำนะ แต่ดูซีรีส์ฝรั่งพากย์ไทยอย่าง MacGyver, Charlie's Angels, Incredible Hulk, Knight Rider, The Dukes of Hazzard, Chips, The six million dollars man ฯลฯ ครั้งหนึ่งมีคนเอามินิซีรีส์มาฉายติดกันงอมแงมทั่วบ้านทั่วเมืองแบบเดียวกับแดจังกึม เรื่องนั้นชื่อ Roots เกี่ยวกับสามเจเนอเรชันของทาสในอเมริกา ลองนึกภาพแม่ป้านาอาของผมเฝ้าหน้าจอดูหนังเรื่องนี้ทุกคืน ทุกคนเจอกันก็คุยกันว่าเมื่อคืนทาสพวกนั้นถูกทรมาณอย่างไร คนรุ่นนั้นเป็นรุ่น Baby-boomers ซึ่งผ่านชีวิตในช่วงสงครามโลกมา ถ้าอยู่ในกรุงเทพต้องเคยหลบระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร ส่วนใหญ่จะได้เรียนหนังสือน้อย พวกเขาเห็นฝรั่งเป็นเทวดา และรู้สึกว่าการรู้ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งวิเศษ พวกเขาคาดหวังว่าลูกหลานโตไปจะใช้ภาษาอังกฤษได้ และ Gen X ก็คือผลผลิตของคนรุ่นนี้
ตอนเด็กๆ ผมรู้สึกว่าเมื่อผมอายุมากขึ้น ผมต้องใช้ภาษาอังกฤษได้ มันมาจากสิ่งแวดล้อมทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เหมือนไม่ใช่เรื่องที่ต้องสงสัย ผมว่าคนรุ่นผมจำนวนมากคิดแบบเดียวกัน บางคนโตแล้วอาจไม่ค่อยได้ใช้ภาษาอังกฤษแต่จะรู้สึกเหมือนขาดอะไรไปบางอย่าง เหมือนมีงานที่ยังทำไม่เสร็จ ผมเองเรียนหนังสือในเมืองไทยตลอด ไม่เคยได้ใช้ชีวิตในต่างประเทศนานๆ หลายปีก่อนผมมีโอกาสไปบรรยายในงานสัมมนาที่ฮังการี ในช่วงที่ฟังผู้บรรยายคนอื่นจากทั่วโลกพบว่าตัวเองฟังได้รู้เรื่องไม่เต็มร้อย รู้สึกตำหนิตัวเองขึ้นมาว่า อายุ 40 แล้วยังฟังฝรั่งพูดไม่รู้เรื่อง เลยได้รู้ว่าตัวเองมีค่านิยมที่ติดมากับยุคสมัยว่า "ผู้ใหญ่ต้องใช้ภาษาอังกฤษได้"
หลังจากนั้นผมเลยติด TED Talks เรื่อยไปจนถึง Talks at Google นอกจากจะได้ฟังบรรยายภาษาอังกฤษเรื่อยๆ แล้ว เนื้อหาพวกนั้นก็สุดยอดจริงๆ ทำให้อยากรู้เรื่องและอยากฟังจนจบ ความจริงภาษาอังกฤษผมไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่ เพราะใช้อ่านหนังสือทางไอทีเท่านั้นจึงรู้ศัพท์ในชีวิตประจำวันน้อยมาก ถ้าดูหนังไม่เปิดซับไตเติ้ลจะดูไม่รู้เรื่องแล้ว ตอนนี้เลยต้องเริ่มหยิบวรรณกรรมมาอ่านเพื่อเพิ่มศัพท์ในหัว วันหนึ่งเวลาดูหนังจะได้ปิดซับไตเติ้ล ที่เปิดไว้แล้วจะไม่เห็นการแสดงทางสีหน้าของนักแสดงเลย
ผมทบทวนตัวเองแล้วจึงเข้าใจปัญหาของคน Generation Y และ Z ด้วยแบคกราวน์ชีวิตที่ต่างไปทำให้มีค่านิยมที่ต่างกัน ผมฟันธงว่าสาเหตุที่คนรุ่นนี้ใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้คือความรู้สึกอันเป็นค่านิยมว่า
ภาษาอังกฤษมีประโยชน์ ถ้ารู้ได้ก็ดี แต่ไม่ได้จำเป็น
ผมว่ามันต่างกับความรู้สึกของคนรุ่นก่อนที่รู้สึกว่า คนมีการศึกษาต้องใช้ภาษาอังกฤษได้ แน่นอนไม่ใช่ความผิดใคร เพราะสังคมไทยยุคหลังก็ไม่ได้เป็นเมืองขึ้นอเมริกันเหมือนแต่ก่อน เดี๋ยวนี้เพลงไทยหนังไทยทำดี เดี๋ยวนี้คนฟังเพลงไทยดูหนังไทยกันเป็นเรื่องปกติ ยิ่งกว่านั้นเรามองวัฒนธรรมอื่นสวยงามขึ้น ญี่ปุ่น เกาหลี กลายเป็นนิยามของแฟชัน ความใหม่ล่าสุด อยู่ที่เกาหลีไม่ใช่ที่อเมริกา ผมว่าคนที่จะมาแก้ปัญหาความไม่รู้ภาษาอังกฤษของคนไทยต้องเข้าใจพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป ต้องเข้าใจว่าเขาไม่เก่งภาษาอังกฤษไม่ใช่เพราะเขาโง่หรือขี้เกียจ แต่เพราะเดี๋ยวนี้มันไม่จำเป็น มันไม่คูล ไม่เท่ ไม่แนว มันเป็นส่วนหนึ่งของวิชาการ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชีวิต
คนรุ่นใหม่จะเรียนภาษาอังกฤษอย่างไร
แต่แน่นอนมีคนรุ่นใหม่ที่ใจก็สนใจภาษาอังกฤษ แต่พยายามแล้วก็ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ต่างจากการลดความอ้วนนั่นแหละ แต่บางคนอ้วนมากก็ยังลดความอ้วนสำเร็จ เขาทำได้ไง? สมมุติเราตัดคนที่ไม่อยากรู้ภาษาอังกฤษจริงๆ ออกไป ทำอย่างไรคนที่อยากรู้จะไปให้ถึงฝั่ง มันยากและใช้แรงมากเท่าความพยายามลดความอ้วนทีเดียว และผมว่าเขาต้องเริ่มจากการเปลี่ยนค่านิยมให้ได้ก่อน วิธีการไม่สำคัญ
ที่ผมเล่าเรื่องความรู้สึกต่อภาษาอังกฤษข้างบนนั้น ผมว่าคนรุ่นนี้จะนึกภาพไม่ออก ความรู้สึกว่า "คนมีการศึกษาต้องใช้ภาษาอังกฤษได้" หากยังใช้ไม่ได้เหมือนยังมีงานต้องทำอยู่ ผมว่าเบื้องต้นเขาต้องรู้สึกอย่างนี้ให้ได้ก่อน ถ้ายังรู้สึกว่า "รู้ก็ดี ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร" ก็เหมือนคนที่รู้สึกว่าอ้วนก็ได้ ไม่คอขาดบาดตาย พยายามยังไงก็จะลดน้ำหนักไม่ได้ ดังนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความพยายาม แต่อยู่ที่ค่านิยม ปกติค่านิยมเราถูกปั้มขึ้นมาจากสังคมรอบตัว แต่บ่อยครั้งเราก็ปลูกฝังค่านิยมให้ตัวเองได้ คนที่ทำไม่ได้ป่านนี้คงดมกาวอยู่ใต้สะพานลอย คงไม่ได้อ่านโพสต์นี้อยู่แน่
อีกอย่าง เขาต้องประเมินตัวเองอย่างบริสุทธิ์ใจว่าภาษาอังกฤษของเขาได้เรื่องแค่ไหน ผมไม่เคยเจอคนรุ่นนี้บอกว่าภาษาอังกฤษตัวเองไม่ได้เรื่องเลยสักคน ส่วนใหญ่บอกว่าพออ่านได้ ดูหนังซาวน์แทรค ฟังเพลงฝรั่ง บางคนบอกเจอฝรั่งก็คุยได้บอกทางได้ ก็ดี แต่ที่ว่าใช้ภาษาอังกฤษได้ไม่ได้หมายถึงทักษะระดับนี้ แต่หมายถึงอย่างสมมุติคุณจะเรียนรู้อะไรสักอย่าง มีหนังสือภาษาไทยกับภาษาอังกฤษให้เลือก แล้วคุณเลือกด้วยคุณภาพของหนังสือ ไม่ได้เลือกเพราะภาษา หรือมากกว่านั้น คุณสามารถบรรยายหรือสอนเป็นภาษาอังกฤษแล้วตอบคำถามผู้ฟังได้ หมายความว่าภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่อุปสรรค ถ้าภาษาอังกฤษยังเป็นอุปสรรค แปลว่าคุณยังมีงานต้องทำอยู่
ไม่รู้ว่ามันจริงหรือเปล่านะที่ว่าคนมีการศึกษาต้องใช้ภาษาอังกฤษได้ มันไม่สำคัญด้วยซ้ำไปว่ามันจริงหรือเปล่า แต่ถ้าคุณจะใช้ภาษาอังกฤษให้ได้ คุณก็ต้องเริ่มจากค่านิยมนี้ เสร็จแล้วจะต้องทำอะไรบ้าง คุณก็รู้ด้วยตัวคุณเองอยู่หรอก