24 ธันวาคม 2554

เศรษฐศาสตร์ตะวันตกผลิตอะไรขายได้ก็กำไร?


เศรษฐศาสตร์ตะวันตกสอนให้เราผลิตอะไรขายก็ได้ที่มีคนซื้อในราคาสูงกว่าต้นทุน ก็เรียกว่ากำไรเสมอ

ลองนึกถึงคนขุดทองในอเมริกายุคตื่นทอง แค่เพียงใครขุดหรือร่อนไปเจอแร่ทอง แค่นั้นก็กำไรทันที เหมืองทับทิมในจันทบุรีก็เช่นกัน เป็นความรู้สึกที่น่าอัศจรรย์สำหรับคนสมัยนี้ เพราะแค่ค้นพบทรัพยากรธรรมชาติที่ยังไม่ได้แปรรูปเท่านั้น ก็ทำให้หลายคนรวยเป็นเศรษฐี

แล้วมันก็หมดไป ทุกวันนี้ทับทิมที่ซื้อขายในตลาดพลอยจันทบุรีมาจากพม่า วันนี้เรามีการใช้ทองที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มหาศาลคือในวงจรอิเล็กทรอนิคส์ แต่ทองไม่ได้หาง่ายเหมือนก่อนแล้ว


แม้การเผาป่าไม้ทิ้งก็ยังกำไร หากเพื่อเอาที่ไปปลูกปาล์มหรือถั่วเหลือง การผลิตที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่สร้างใหม่ไม่ได้ อย่างน้ำมัน แหล่งน้ำ หรือแร่ธาติต่างๆ คิดอย่างเศรษฐศาสตร์แบบเดิมอย่างไรก็กำไร


เราเคยชินกับการเผาน้ำมัน 1 ลิตรเพื่อขนของไปได้ระยะ 10 กิโลเมตรซึ่งกำไร ถ้าทำให้ใกล้คนซื้อมากขึ้นและเร็วขึ้น เพราะถ้าเราใช้คนขนจะใช้เวลาหลายชั่วโมงและเหนื่อยมาก น้ำมันเพียง 1 ลิตรมีพลังงานมโหฬาร เมื่อเทียบกับแรงงานมนุษย์ เมื่อเทียบกับค่าแรงพวกเราแล้ว ราคาน้ำมันนั้นถูกเหมือนได้เปล่า

ความจริงมันถูกเมื่อไม่ได้คิดต้นทุนของวัตถุดิบคือน้ำมันดิบที่อยู่ใต้ดิน

แนวคิดร่วมสมัยจึงเตือนให้เราคำนึงถึงต้นทุนของทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ไปในการผลิตด้วย น้ำมันเราซื้อมาก็จริง แต่ต้นทุนของมันมากกว่าราคานั้นมาก ค่าไฟเราจ่ายก็จริง แต่ถาม กฟผ. ดูก็จะรู้ว่าเขาใกล้จนปัญญาที่จะผลิตให้ได้มากกว่านี้แล้ว (นอกจากใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์)

เราจะตระหนักราคาที่แท้จริงก็ต่อเมื่อมันเหลือน้อยแล้วแบบทอง หรือหมดไปแล้ว อย่ารอว่าต่อไปเราจะมีเทคโนโลยีที่ดีกว่านี้ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีเราไม่พอ แต่คือวิธีคิดที่ผิดธรรมชาติ ไร้เหตุผล และเห็นแก่ตัวอย่างที่สุดต่างหาก