11 ธันวาคม 2554

โลกไม่ได้เป็น zero-sum game เสมอไป

พักหลังเห็นคนชอบวาดภาพโลกแบบ zero-sum game และใช้มันกับทุกเรื่อง แต่ไม่จริงหรอก อย่างแต่ก่อนคนอาจมองว่านักธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันจะต้องแข่งกันเพื่อแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด แต่เดี๋ยวนี้นักธุรกิจกลับชอบคลัสเตอร์กันเพื่อทำให้ตลาดมันโตขึ้นด้วยซ้ำไป หรือเพื่อให้ตัวเองมีประสิทธิภาพมากขึ้นมีต้นทุนลดลง

คำถามคือเมื่อไหร่ที่โลกรอบตัวเราจะเป็น zero-sum game?

  • ถ้าเราเป็นผู้บริโภค โลกนี้จะเป็น zero-sum game เราต้องแย่งเอามาให้ได้มากที่สุดก่อนที่มันจะหมด นึกถึงน้ำมัน ไม้ ทอง และน้ำขวดหรือเรือในช่วงมหาอุทกภัยเป็นตัวอย่าง 
  • แต่ถ้าเราเป็นผู้ผลิต โลกก็จะเป็น non-zero-sum game ไม่จำเป็นที่คนหนึ่งได้แล้วอีกคนหนึ่งจะต้องเสีย หากทุกคน "ให้" คุณค่าบางอย่างออกไป นึกถึงอาหาร แรงงาน เวลา ความคิดสร้างสรรค์ หรือกำลังใจ
ไม่ว่าเราจะผลิต หรือให้บริการอะไร หรือใช้แรงงานไปเพื่อขับเคลื่อนสังคมให้ดำเนินไปตามหน้าที่ความรับผิดชอบขอบแต่ละคน หรือเราจะค้าขายเพื่อให้คนอื่นได้รับสินค้าและบริการจากอีกคน กิจกรรมเหลานี้ทำให้เกิดคุณค่ามากขึ้นกว่าหากไม่ได้ทำ หรือเพียงการที่เราให้เวลากับคนอื่นอย่างที่เรียกว่าการสังสรรค์ แต่ละคนต่างเสียเวลาไป แต่คุณค่าที่ได้กลับมาย่อมมากกว่าหากเราตัดสินใจใช้เวลากับสิ่งอื่น มิฉะนั้นเราคงไม่ทำกันบ่อยๆ ลองนึกถึงการให้เวลากับลูก หรือแม้แต่กับหมาหรือแมว ทั้งเราและเขาต่างก็ได้โดยที่ไม่มีใครเสีย

สังคมที่ซับซ้อนและพึ่งพากันมากๆ จะมีแนวโน้มเป็น non-zero-sum มากกว่าสังคมที่ต่างคนต่างอยู่
การมองโลกแบบ zero-sum หรือ non-zero-sum มีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมของเราในสถานการณ์ต่างๆ หากเรามองสถานการณ์ตอนนั้นเป็นแบบ zero-sum เราก็จะพยายามแย่งเอามาให้ได้ก่อนคนอื่น แต่หากเรามองสถานการณ์ตอนนั้นเป็นแบบ non-zero-sum เราจะพยายามสร้างคุณค่าให้กับคนอื่น เพื่อที่ทุกคนจะได้ win-win

เป็นไปได้ไหมว่า เราอาจจะประเมินสถานการณ์บางอย่างผิด จากที่จริงเป็น non-zero-sum แต่เราเข้าใจว่าเป็น zero-sum ผลก็คือต่างคนต่างจะแย่งคุณค่าจากสนามนั้นไปจนหมด ทั้งที่จริงแล้วมันจะเติบโตและรุ่งเรืองต่อไปได้มาก แต่เมื่อทุกคนต่างคิดว่า "เดี๋ยวหมด" จึงแย่งกันจนมันหมดไปจริงๆ ดีไม่ดี ประเทศไทยอาจกำลังอยู่ในสภาพนั้นหรือเปล่า

ความคิดสร้างสรรค์

บริษัทเทคโนโลยีสมัยใหม่ยืนอยู่บนความคิดนี้อย่างสุดขั้ว เพราะไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำไปว่าตลาดไอทีจะขยายไปถึงไหน มันเริ่มครอบคลุมเข้ามาในชีวิตประจำวันของเราเกือบทั้งชีวิตแล้ว พวกเขาชอบที่จะสร้างเครื่องมืออะไรสักอย่างเพื่อให้พวกเราทำงานได้ดีขึ้น บ่อยครั้งที่สร้างให้ฟรีๆ ด้วยซ้ำไป แต่ถ้าเข้าใจว่าในสนามแห่งความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งเราทำประโยชน์ให้คนอื่นได้มาก เขาก็ยอมจ่ายให้เรามากเช่นกัน

จริงๆ Apple นั่นเองที่เป็นที่มาของบทความนี้ มีคนบอกว่า ไม่มีธุรกิจอะไรดีไปกว่าการทำประโยชน์ให้คนอื่น เพราะ Apple ได้สร้างอะไรมากมายให้เราใช้งานในชีวิตประจำวัน เพราะสิ่งนั้น Apple จึงกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ทั้งหมดโดยแทบไม่ต้องไปแย่งตลาดจาก Microsoft หรือ IBM ตลาดไอทีโลกเป็น non-zero-sum อย่างชัดเจน เพราะทุกคนสร้างสิ่งใหม่ตลอดเวลา

สำหรับชีวิตส่วนตัวของเราเอง ผมเชื่อว่าการมองแบบ zero-sum ตลอดเวลาทำให้เราเป็นทุกข์เปล่าๆ แล้วสุดท้ายก็ทำลายสนามที่จริงๆ เป็น non-zero-sum ไปเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าหากเรามองหาสนามที่เป็น non-zero-sum อยู่เสมอ เราจะพบมันอยู่รอบตัวตลอดเวลา


Kuwait Finance