30 เมษายน 2555

ค่า BMI ไม่ใช่ตัวชี้ที่ดีของสุขภาพ แต่เป็นรอบเอว

ตอนนี้ผมลดน้ำหนักลงไปได้หน่อย จาก BMI ที่ 31.7 ลงมาเป็น 29.0 เลยหลุดจากเกณฑ์อ้วน (Obesity = BMI > 30) มาอยู่ในกลุ่ม Overweight แทน

ปัญหาคือ ผมยังคงอ้วนอยู่ หรือว่าค่า BMI มันไม่เวิร์ก?

ค่า BMI

ในทางสุขภาพเรามักจะใช้ค่า BMI ในการวัดว่าใครอ้วน (หรือผอม) เกินไป ใครมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน, ความดันสูง, ไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจ แต่ในความเป็นจริง BMI ไม่ได้แยกระหว่างน้ำหนักจากกล้ามเนื้อ และน้ำหนักจากไขมัน ดังนั้น นักกล้ามตัวโตๆ ที่ไม่มีไขมันเลย เมื่อคำนวณก็จะกลายเป็นคนอ้วนไปทันที

แต่ที่แย่กว่านั้นคือ ค่า BMI ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดที่ดีถึงความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวเลย! เพราะการที่ BMI ต่ำกว่า 30 ไม่ได้แปลว่าเราจะปลอดภัย

Central Obesity

Central obesity คือการอ้วนลงพุงเป็นหลัก แทนที่จะอ้วนกระจายไปทั้งตัว การอ้วนลงพุงเป็นอาการ (ผลที่มองเห็น) ของ metabolic syndrome และ metabolic syndrome ก็นำไปสู่การที่มีไขมันไตรกลีเซอไรด์ และคอเลสตอโรล LDL ในเลือดสูง, ตับอักเสบจากไขมันเกาะตับ (non-alcoholic fatty liver disease) และความดันสูง ซึ่งภายในไม่กี่ปีก็จะลงเอยด้วยเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเกิดจากการดื้ออินซูลิน (insulin resistance)

การดื้ออินซูลินเป็นส่วนหนึ่งของ metabolic syndrome ปัจจุบันเชื่อว่าผลร้ายต่อร่างกายเช่นไขมันในเลือดและความดันสูง เกิดจากการที่มีอินซูลินในเลือดสูงกว่าปกติ (hyperinsulinemia) เนื่องจากกล้ามเนื้อในร่างกายพากันดื้ออินซูลินกันไปหมด ผลร้ายนี้เกิดก่อนหน้าที่จะตรวจพบเบาหวานนานหลายปี เพราะระหว่างนั้นตับอ่อนจะยังคงผลิตอินซูลินสูงขึ้นๆ ซึ่งทำให้น้ำตาลในเลือดยังคงปกติอยู่ จนกระทั่งตับอ่อนจนปัญญาจึงจะเป็นเบาหวานชนิดที่สอง

จากนั้นแม้ว่าเราจะดูแลระดับน้ำตาลในเลือดเป็นอย่างดีด้วยยาทีหมอให้ จนระดับน้ำตาลกลับมาเป็นปกติเหมือนคนที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน แต่ผลของการดื้ออินซูลินก็ยังคงทำร้ายส่วนต่างๆ ของร่างกายต่อไปอยู่ดี เพราะการรักษาสมัยใหม่ที่รักษาโรค (เบาหวาน) แต่ไม่ได้รักษาสุขภาพจริงๆ ซึ่งจะต้องแก้ไข (reverse) การดื้ออินซูลิน

การอ้วนลงพุงเป็นอาการของ metabolic syndrome (ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า insulin resistance syndrome) ดังนั้นรอบเอวจึงเป็นตัวชี้วัดที่ดีของกลุ่มอาการนี้ แต่การตั้งเกณฑ์แบบคงตัวเช่น รอบเอวเกิน 30" ก็ไม่ได้นำเอาโครงสร้างของคนนั้นมาพิจารณาเลย และทำให้ตัวเลขของเกณฑ์นี้แตกต่างกันในแต่ละประเทศ จึงมีคนคิดค่าที่แม่นยำกว่า เรียกว่า Index of Central Obesity หรือ ICO ซึ่งคำนวณง่ายมากคือ
ICO = ความยาวรอบเอว / ความสูง (ใช้หน่วยเดียวกันทั้งสองค่า)
และเกณฑ์ว่าเราเข้าข่ายใน metabolic syndrome อยู่คือ ICO มากกว่า 0.5

ICO ดีกว่า BMI

การใช้ ICO เป็นตัวชี้วัดความเสี่ยงนั้นดีกว่า BMI มาก เพราะ BMI นอกจากจะไม่แยกระหว่างกล้ามเนื้อกับไขมันแล้ว ยังไม่แยกระหว่างการที่ไขมันกระจายไปตามใต้ผิวหนัง กับการที่ไขมันไปกระจุกอยู่ที่หน้าท้อง ซึ่งแบบหลังต่างหากที่ทำให้เกิดความเสี่ยง การใช้ ICO เป็นเกณฑ์จะทำให้เรารู้ปัญหา metabolic syndrome แต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะพบว่าตัวเองอ้วน ซึ่งตอนนั้นการดื้ออินซูลินอาจจะทำร้ายร่างกายไปเป็นสิบปีแล้ว

กลับมาที่ผม ค่า BMI 29 ก็ดูโอเคไม่อ้วน แต่ ICO ที่ 0.6 แปลว่าผมยังตกอยู่ใน metabolic syndrome อยู่ดี ลองคำนวณรอบเอวที่ปลอดภัย คือ ความสูง / 2 ก็ทำให้ทราบว่าผมต้องลดน้ำหนักเพื่อลดรอบเอวลงไปอีก 17.5 ซม. หรือเกือบ 7"

สุดท้ายแล้วผมก็ยังคงต้องลดน้ำหนักเพื่อ reverse metabolic syndrome อยู่ดี เนื่องจากการพยายามลดหน้าท้องอย่างเดียว (พวก abdominizer ทั้งหลาย) ไม่ได้ผลกับไขมันในพุงแต่อย่างใด แม้แต่การดูดไขมันหน้าท้องออกไปก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะเป็นการดูดไขมันใต้ผิวหนังบริเวณหน้าท้องเท่านั้น ไม่ใช่ไขมันในท้อง (abdominal fat) ซึ่งอยู่ระหว่างอวัยวะในช่องท้อง แต่การผ่าตัดบายพาสลำไส้ (gastric bypass) กลับได้ผลเร็วมาก แต่ก็มีความเสี่ยงอย่างอื่นเพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย ดังนั้น ผมจึงบอกตัวเองว่าทางเดียวที่จะทวงคืนสุขภาพกลับมาก็คือคุมอาหาร และออกกำลังกาย

แต่สำหรับคนทั่วไป การคำนวณ ICO จะทำให้คุณรู้ตัวล่วงหน้า ก่อนที่จะเป็นไขมัน ความดัน เบาหวาน และโรคหัวใจ เมื่อรอบเอวคุณยาวเกินครึ่งหนึ่งของความสูง คุณก็จะรู้ว่าถึงเวลาต้องลดความอ้วนแล้วล่ะ

อ่านเพิ่มเติม


Tobyotter