30 เมษายน 2555

ค่า BMI ไม่ใช่ตัวชี้ที่ดีของสุขภาพ แต่เป็นรอบเอว

ตอนนี้ผมลดน้ำหนักลงไปได้หน่อย จาก BMI ที่ 31.7 ลงมาเป็น 29.0 เลยหลุดจากเกณฑ์อ้วน (Obesity = BMI > 30) มาอยู่ในกลุ่ม Overweight แทน

ปัญหาคือ ผมยังคงอ้วนอยู่ หรือว่าค่า BMI มันไม่เวิร์ก?

ค่า BMI

ในทางสุขภาพเรามักจะใช้ค่า BMI ในการวัดว่าใครอ้วน (หรือผอม) เกินไป ใครมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน, ความดันสูง, ไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจ แต่ในความเป็นจริง BMI ไม่ได้แยกระหว่างน้ำหนักจากกล้ามเนื้อ และน้ำหนักจากไขมัน ดังนั้น นักกล้ามตัวโตๆ ที่ไม่มีไขมันเลย เมื่อคำนวณก็จะกลายเป็นคนอ้วนไปทันที

แต่ที่แย่กว่านั้นคือ ค่า BMI ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดที่ดีถึงความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวเลย! เพราะการที่ BMI ต่ำกว่า 30 ไม่ได้แปลว่าเราจะปลอดภัย

Central Obesity

Central obesity คือการอ้วนลงพุงเป็นหลัก แทนที่จะอ้วนกระจายไปทั้งตัว การอ้วนลงพุงเป็นอาการ (ผลที่มองเห็น) ของ metabolic syndrome และ metabolic syndrome ก็นำไปสู่การที่มีไขมันไตรกลีเซอไรด์ และคอเลสตอโรล LDL ในเลือดสูง, ตับอักเสบจากไขมันเกาะตับ (non-alcoholic fatty liver disease) และความดันสูง ซึ่งภายในไม่กี่ปีก็จะลงเอยด้วยเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเกิดจากการดื้ออินซูลิน (insulin resistance)

การดื้ออินซูลินเป็นส่วนหนึ่งของ metabolic syndrome ปัจจุบันเชื่อว่าผลร้ายต่อร่างกายเช่นไขมันในเลือดและความดันสูง เกิดจากการที่มีอินซูลินในเลือดสูงกว่าปกติ (hyperinsulinemia) เนื่องจากกล้ามเนื้อในร่างกายพากันดื้ออินซูลินกันไปหมด ผลร้ายนี้เกิดก่อนหน้าที่จะตรวจพบเบาหวานนานหลายปี เพราะระหว่างนั้นตับอ่อนจะยังคงผลิตอินซูลินสูงขึ้นๆ ซึ่งทำให้น้ำตาลในเลือดยังคงปกติอยู่ จนกระทั่งตับอ่อนจนปัญญาจึงจะเป็นเบาหวานชนิดที่สอง

จากนั้นแม้ว่าเราจะดูแลระดับน้ำตาลในเลือดเป็นอย่างดีด้วยยาทีหมอให้ จนระดับน้ำตาลกลับมาเป็นปกติเหมือนคนที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน แต่ผลของการดื้ออินซูลินก็ยังคงทำร้ายส่วนต่างๆ ของร่างกายต่อไปอยู่ดี เพราะการรักษาสมัยใหม่ที่รักษาโรค (เบาหวาน) แต่ไม่ได้รักษาสุขภาพจริงๆ ซึ่งจะต้องแก้ไข (reverse) การดื้ออินซูลิน

การอ้วนลงพุงเป็นอาการของ metabolic syndrome (ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า insulin resistance syndrome) ดังนั้นรอบเอวจึงเป็นตัวชี้วัดที่ดีของกลุ่มอาการนี้ แต่การตั้งเกณฑ์แบบคงตัวเช่น รอบเอวเกิน 30" ก็ไม่ได้นำเอาโครงสร้างของคนนั้นมาพิจารณาเลย และทำให้ตัวเลขของเกณฑ์นี้แตกต่างกันในแต่ละประเทศ จึงมีคนคิดค่าที่แม่นยำกว่า เรียกว่า Index of Central Obesity หรือ ICO ซึ่งคำนวณง่ายมากคือ
ICO = ความยาวรอบเอว / ความสูง (ใช้หน่วยเดียวกันทั้งสองค่า)
และเกณฑ์ว่าเราเข้าข่ายใน metabolic syndrome อยู่คือ ICO มากกว่า 0.5

ICO ดีกว่า BMI

การใช้ ICO เป็นตัวชี้วัดความเสี่ยงนั้นดีกว่า BMI มาก เพราะ BMI นอกจากจะไม่แยกระหว่างกล้ามเนื้อกับไขมันแล้ว ยังไม่แยกระหว่างการที่ไขมันกระจายไปตามใต้ผิวหนัง กับการที่ไขมันไปกระจุกอยู่ที่หน้าท้อง ซึ่งแบบหลังต่างหากที่ทำให้เกิดความเสี่ยง การใช้ ICO เป็นเกณฑ์จะทำให้เรารู้ปัญหา metabolic syndrome แต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะพบว่าตัวเองอ้วน ซึ่งตอนนั้นการดื้ออินซูลินอาจจะทำร้ายร่างกายไปเป็นสิบปีแล้ว

กลับมาที่ผม ค่า BMI 29 ก็ดูโอเคไม่อ้วน แต่ ICO ที่ 0.6 แปลว่าผมยังตกอยู่ใน metabolic syndrome อยู่ดี ลองคำนวณรอบเอวที่ปลอดภัย คือ ความสูง / 2 ก็ทำให้ทราบว่าผมต้องลดน้ำหนักเพื่อลดรอบเอวลงไปอีก 17.5 ซม. หรือเกือบ 7"

สุดท้ายแล้วผมก็ยังคงต้องลดน้ำหนักเพื่อ reverse metabolic syndrome อยู่ดี เนื่องจากการพยายามลดหน้าท้องอย่างเดียว (พวก abdominizer ทั้งหลาย) ไม่ได้ผลกับไขมันในพุงแต่อย่างใด แม้แต่การดูดไขมันหน้าท้องออกไปก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะเป็นการดูดไขมันใต้ผิวหนังบริเวณหน้าท้องเท่านั้น ไม่ใช่ไขมันในท้อง (abdominal fat) ซึ่งอยู่ระหว่างอวัยวะในช่องท้อง แต่การผ่าตัดบายพาสลำไส้ (gastric bypass) กลับได้ผลเร็วมาก แต่ก็มีความเสี่ยงอย่างอื่นเพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย ดังนั้น ผมจึงบอกตัวเองว่าทางเดียวที่จะทวงคืนสุขภาพกลับมาก็คือคุมอาหาร และออกกำลังกาย

แต่สำหรับคนทั่วไป การคำนวณ ICO จะทำให้คุณรู้ตัวล่วงหน้า ก่อนที่จะเป็นไขมัน ความดัน เบาหวาน และโรคหัวใจ เมื่อรอบเอวคุณยาวเกินครึ่งหนึ่งของความสูง คุณก็จะรู้ว่าถึงเวลาต้องลดความอ้วนแล้วล่ะ

อ่านเพิ่มเติม


Tobyotter

29 เมษายน 2555

ค่าเสียหายกรณีสร้างเขื่อนแม่วงก์


กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชมีเกณฑ์ในการคิดต้นทุนความเสียหายในการทำลายป่า ซึ่งใช้ในการฟ้องร้องผู้ที่บุกรุกทำลายป่า
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ฟ้องร้องทางแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายจากชาวบ้านใน จ.ตรัง พัทลุง และกระบี่ ที่อาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด และอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา จ.กระบี่ ฐานบุกรุกทำลายป่าทำให้โลกร้อน อากาศร้อน ฝนตกน้อยลง ล่าสุดศาลพิพากษาให้ชาวบ้าน 15 ราย จ่ายค่าเสียหายให้แก่รัฐแล้ว โดย 7 รายต้องจ่ายค่าเสียหายรวม 20.30 ล้านบาท - มติชน 14 สิงหาคม 2552
สูตรคำนวณค่าเสียหาย
คนที่เคยสงสัยว่าสูญเสียพื้นที่ป่าไปแล้วเราจะเสียอะไรไปบ้าง ดูเกณฑ์การคำนวณค่าเสียหายของกรมอุทยานฯ ข้างล่างนี้แล้วน่าจะเข้าใจได้ทันที (ประชาไทย 28 กุมภาพันธ์ 2552)
  1. ค่าเสียหายที่ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น คิดเป็นมูลค่า 45,453.45 บาทต่อไร่ต่อปี 
  2. ค่าเสียหายทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของรังสีดวงอาทิตย์ คิดเป็นมูลค่า 52,800 บาทต่อไร่ต่อปี 
  3. ค่าเสียหายทำให้ฝนตกน้อยลง คิดเป็นมูลค่า 5,400 บาทต่อปี 
  4. ค่าเสียหายทำให้ดินสูญหาย คิดเป็นมูลค่า 1,800 บาทต่อไร่ต่อปี 
  5. ค่าเสียหายการสูญหายของธาตุอาหาร คิดเป็นมูลค่า 4,064.15 บาทต่อไร่ต่อปี 
  6. ค่าเสียหายทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน คิดเป็นมูลค่า 600 บาทต่อไร่ต่อปี 
  7. ค่าเสียหายทางตรงจากการทำลายป่าแต่ละประเภท ประกอบด้วย 
    1. การทำลายป่าดงดิบ คิดเป็นมูลค่า 61,263.36 บาทต่อไร่ต่อปี 
    2. การทำลายป่าเบญจพรรณ คิดเป็นมูลค่า 42,577.75 บาทต่อไร่ต่อปี
    3. การทำลายป่าเต็งรัง คิดเป็นมูลค่า 18,634.19 บาทต่อไร่ต่อปี
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอแม่วงก์ และอำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร ตามเทือกเขาสูงชันก่อกำเนิดเป็นน้ำตกที่สวยงาม 4-5 แห่ง ทั้งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำแม่วงก์อันเป็นต้นน้ำของแม่น้ำสะแกกรัง นอกจากนี้ยังมีแก่งหินทำให้เกิดน้ำตกเล็กๆ ตามแก่งหินนี้ ตลอดจนมีหน้าผาที่สวยงามตามธรรมชาติ อุทยานมีเนื้อที่ประมาณ 558,750 ไร่ หรือ 894 ตารางกิโลเมตร - วิกิพีเดีย

พืชพันธุ์และสัตว์ป่า
  • ป่าดิบเขา ประมาณ 0.88 %
  • ป่าดิบแล้ง ประมาณ 21.85 %
  • ป่าดิบแล้งผสมป่าเบญจพรรณชื้นประมาณ 9.24%
  • ป่าเบญจพรรณ ประมาณ 59.05 %
  • ป่าเต็งรัง ประมาณ 6.77 %
  • ทุ้งหญ้าหรือไร่ร้าง ประมาณ 2.21 %
  • ทรัพยากรสัตว์ป่า สามารถจำแนกได้ดังนี้
  • สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 57 ชนิด 26 วงศ์
  • สัตว์จำพวกนก จำนวน 305 ชนิด 53 วงศ์
  • สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 22 ชนิด 11 วงศ์
  • สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 7 ชนิด 4 วงศ์
  • ปลา จำพวกปลาน้ำจืด จำนวน 68 ชนิด 14 วงศ์

คำนวณความเสียหายจากการสร้างเขื่อนแม่วงก์

พื้นที่น้ำท่วม

ข้อมูลยังไม่ตรงกัน ข้อมูลจากฝ่ายสนับสนุน (เช่น “เขื่อนแม่วงก์” ผลที่ได้มากกว่าผลกระทบจริงหรือ! - เดลินิวส์ 29 เมษายน 2555) บอกมีพื้นที่น้ำท่วม 11,000 ไร่ แต่นายวีระกร คำประกอบ สมาชิกบ้านเลขที่ 111 ยืนยันว่ามีพื้นที่น้ำท่วมแค่ 8,000 ไร่ ("วีระกร" ชาวบ้าน 3 จว. หนุนเขื่อนแม่วงก์ ยันได้มากกว่าเสีย พร้อมปลูกป่าทดแทน 2.5 หมื่น - มติชนออนไลน์ 27 เมษายน 2555) สรุปว่าเราคำนวณค่าเสียหายจากพื้นที่น้ำท่วม 8,000 ไร่แล้วกัน

จากสัดส่วนข้างบน ประมาณได้ว่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นป่าดงดิบ ประมาณ 31% เป็นป่าเบญจพรรณ ประมาณ 59% เป็นป่าเต็งรังประมาณ 6.8% จึงประมาณสัดส่วนของป่าชนิดต่างๆ ในพื้นที่น้ำท่วม 8,000 ไร่ได้ว่า เป็นป่าดงดิบ 2,480 ไร่ เป็นป่าเบญจพรรณ 4,720 ไร่ เป็นป่าเต็งรัง 544 ไร่

ค่าเสียหาย
  • ตามสูตรข้อ 1-6 ซึ่งไม่ขึ้นกับชนิดป่า รวมเป็น 110,117.60 บาทต่อไร่ต่อปี คุณ 8,000 ไร่ก็ได้ 880,940,800 บาทต่อปี
  • ตามสูตรข้อ 7 ซึ่งขึ้นกับชนิดป่า เมื่อคำนวณตามพื้นที่ป่าข้างต้นแล้วได้ 363,037,112 บาทต่อปี รวมเป็น 1,243,977,912 บาทต่อปี หรือประมาณ 1,244 ล้านบาทต่อปี
ตัวเลขนี้คือตัวเลขที่กรมอุทยานฯ สามารถฟ้องคนที่สร้างเขื่อนแม่วงก์ และคิดค่าเสียหายเท่านี้ไปเรื่อยๆ ทุกปีๆ  โครงการเขื่อนแม่วงก์ใช้งบประมาณ 13,000 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี ในช่วง 8 ปีนั้นสามารถคิดค่าเสียหายได้ 9,952 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าเสียหายต่อคนทั้งประเทศ (รวมทั้งโลกด้วย) ดังนั้นเมื่อเขื่อนสร้างเสร็จจึงมีต้นทุนที่แท้จริงไม่ใช่ 13,000 ล้านบาท แต่เป็น 22,952 ล้านบาท และมีค่าเสียหายต่อประเทศไปเรื่อยๆ อีกปีละ 9,952 ล้านบาท

กำไรคือประโยชน์ที่ได้มากกว่าต้นทุน แต่เวลาคิดต้นทุน ก็ต้องนำตัวเลขจากผลกระทบทั้งหมดมาใช้ในการพิจารณา ถ้ามั่นใจว่า ผล (ประโยชน์) ของเขื่อนแม่วงก์มากกว่าต้นทุนของประเทศ ก็ควรสร้างครับ

รูปจากข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ - siamfreestyle.com


27 เมษายน 2555

f.lux โปรแกรมปรับสีจอเพื่อช่วยให้นอนหลับสนิท

คนที่มีปัญหาในการนอนหลับ หรือในทางอารมณ์ เช่นซึมเศร้าหรือไบโพลาร์ หันมาใช้ light & dark therapy กันครับ ตอนเช้ารีบเปิดหน้าต่างให้เห็นแสงอาทิตย์ที่มีเหลือเฟือในบ้านเรา (ไม่ต้องไปซื้อโคมไฟ light therapy) ตกค่ำก็ปิดไฟสังเคราะห์ให้มากที่สุด

ปัญหาคือคนไอทีก็ใช้คอมพิวเตอร์ตลอดเวลาจนดึก มีคำแนะนำให้เลิกก่อนนอนสัก 2 ชม. แต่พวกเรายากจะทำได้ ก็เลยมีคนทำโปแกรมที่คอยปรับหน้าจอให้เหมือนกับสีของธรรมชาติ คือตอนค่ำต้องตัดแสงสีฟ้าออก เพื่อให้ตาเราบอกสมองให้เริ่มผลิตเมโลโทนิน

แค่บอกพิกัดตำแหน่งเรา แล้วโปรแกรมจะคำนวณเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและตกให้ แล้วปรับสีของหน้าจอให้อัตโนมัติ โปรแกรมมีทั้งบน Windows, Linux และ iOS

http://stereopsis.com/flux/



26 เมษายน 2555

สันติภาพที่แท้จริง

"สันติภาพที่่แท้จริง. คุณยอมรับความแตกต่าง และยินยอมให้พวกเขาเป็นอย่างที่เป็น วิธีนี้คุณไม่ได้กำจัดพวกเขา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องชอบ หรือแม้แต่อยากให้มีพวกเขา และไม่ได้หมายความว่าคุณเห็นด้วยรับรองแนวคิดทางการเมืองหรือศาสนาของพวกเขา"
-- "The Happniness Trap", Dr. Russ Harris
War
by kevin dooley