กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชมีเกณฑ์ในการคิดต้นทุนความเสียหายในการทำลายป่า ซึ่งใช้ในการฟ้องร้องผู้ที่บุกรุกทำลายป่า
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ฟ้องร้องทางแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายจากชาวบ้านใน จ.ตรัง พัทลุง และกระบี่ ที่อาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด และอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา จ.กระบี่ ฐานบุกรุกทำลายป่าทำให้โลกร้อน อากาศร้อน ฝนตกน้อยลง ล่าสุดศาลพิพากษาให้ชาวบ้าน 15 ราย จ่ายค่าเสียหายให้แก่รัฐแล้ว โดย 7 รายต้องจ่ายค่าเสียหายรวม 20.30 ล้านบาท - มติชน 14 สิงหาคม 2552
สูตรคำนวณค่าเสียหาย
คนที่เคยสงสัยว่าสูญเสียพื้นที่ป่าไปแล้วเราจะเสียอะไรไปบ้าง ดูเกณฑ์การคำนวณค่าเสียหายของกรมอุทยานฯ ข้างล่างนี้แล้วน่าจะเข้าใจได้ทันที (ประชาไทย 28 กุมภาพันธ์ 2552)- ค่าเสียหายที่ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น คิดเป็นมูลค่า 45,453.45 บาทต่อไร่ต่อปี
- ค่าเสียหายทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของรังสีดวงอาทิตย์ คิดเป็นมูลค่า 52,800 บาทต่อไร่ต่อปี
- ค่าเสียหายทำให้ฝนตกน้อยลง คิดเป็นมูลค่า 5,400 บาทต่อปี
- ค่าเสียหายทำให้ดินสูญหาย คิดเป็นมูลค่า 1,800 บาทต่อไร่ต่อปี
- ค่าเสียหายการสูญหายของธาตุอาหาร คิดเป็นมูลค่า 4,064.15 บาทต่อไร่ต่อปี
- ค่าเสียหายทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน คิดเป็นมูลค่า 600 บาทต่อไร่ต่อปี
- ค่าเสียหายทางตรงจากการทำลายป่าแต่ละประเภท ประกอบด้วย
- การทำลายป่าดงดิบ คิดเป็นมูลค่า 61,263.36 บาทต่อไร่ต่อปี
- การทำลายป่าเบญจพรรณ คิดเป็นมูลค่า 42,577.75 บาทต่อไร่ต่อปี
- การทำลายป่าเต็งรัง คิดเป็นมูลค่า 18,634.19 บาทต่อไร่ต่อปี
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอแม่วงก์ และอำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร ตามเทือกเขาสูงชันก่อกำเนิดเป็นน้ำตกที่สวยงาม 4-5 แห่ง ทั้งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำแม่วงก์อันเป็นต้นน้ำของแม่น้ำสะแกกรัง นอกจากนี้ยังมีแก่งหินทำให้เกิดน้ำตกเล็กๆ ตามแก่งหินนี้ ตลอดจนมีหน้าผาที่สวยงามตามธรรมชาติ อุทยานมีเนื้อที่ประมาณ 558,750 ไร่ หรือ 894 ตารางกิโลเมตร - วิกิพีเดีย
พืชพันธุ์และสัตว์ป่า
- ป่าดิบเขา ประมาณ 0.88 %
- ป่าดิบแล้ง ประมาณ 21.85 %
- ป่าดิบแล้งผสมป่าเบญจพรรณชื้นประมาณ 9.24%
- ป่าเบญจพรรณ ประมาณ 59.05 %
- ป่าเต็งรัง ประมาณ 6.77 %
- ทุ้งหญ้าหรือไร่ร้าง ประมาณ 2.21 %
- ทรัพยากรสัตว์ป่า สามารถจำแนกได้ดังนี้
- สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 57 ชนิด 26 วงศ์
- สัตว์จำพวกนก จำนวน 305 ชนิด 53 วงศ์
- สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 22 ชนิด 11 วงศ์
- สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 7 ชนิด 4 วงศ์
- ปลา จำพวกปลาน้ำจืด จำนวน 68 ชนิด 14 วงศ์
คำนวณความเสียหายจากการสร้างเขื่อนแม่วงก์
พื้นที่น้ำท่วม
ข้อมูลยังไม่ตรงกัน ข้อมูลจากฝ่ายสนับสนุน (เช่น “เขื่อนแม่วงก์” ผลที่ได้มากกว่าผลกระทบจริงหรือ! - เดลินิวส์ 29 เมษายน 2555) บอกมีพื้นที่น้ำท่วม 11,000 ไร่ แต่นายวีระกร คำประกอบ สมาชิกบ้านเลขที่ 111 ยืนยันว่ามีพื้นที่น้ำท่วมแค่ 8,000 ไร่ ("วีระกร" ชาวบ้าน 3 จว. หนุนเขื่อนแม่วงก์ ยันได้มากกว่าเสีย พร้อมปลูกป่าทดแทน 2.5 หมื่น - มติชนออนไลน์ 27 เมษายน 2555) สรุปว่าเราคำนวณค่าเสียหายจากพื้นที่น้ำท่วม 8,000 ไร่แล้วกัน
จากสัดส่วนข้างบน ประมาณได้ว่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นป่าดงดิบ ประมาณ 31% เป็นป่าเบญจพรรณ ประมาณ 59% เป็นป่าเต็งรังประมาณ 6.8% จึงประมาณสัดส่วนของป่าชนิดต่างๆ ในพื้นที่น้ำท่วม 8,000 ไร่ได้ว่า เป็นป่าดงดิบ 2,480 ไร่ เป็นป่าเบญจพรรณ 4,720 ไร่ เป็นป่าเต็งรัง 544 ไร่
ค่าเสียหาย
- ตามสูตรข้อ 1-6 ซึ่งไม่ขึ้นกับชนิดป่า รวมเป็น 110,117.60 บาทต่อไร่ต่อปี คุณ 8,000 ไร่ก็ได้ 880,940,800 บาทต่อปี
- ตามสูตรข้อ 7 ซึ่งขึ้นกับชนิดป่า เมื่อคำนวณตามพื้นที่ป่าข้างต้นแล้วได้ 363,037,112 บาทต่อปี รวมเป็น 1,243,977,912 บาทต่อปี หรือประมาณ 1,244 ล้านบาทต่อปี
ตัวเลขนี้คือตัวเลขที่กรมอุทยานฯ สามารถฟ้องคนที่สร้างเขื่อนแม่วงก์ และคิดค่าเสียหายเท่านี้ไปเรื่อยๆ ทุกปีๆ โครงการเขื่อนแม่วงก์ใช้งบประมาณ 13,000 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี ในช่วง 8 ปีนั้นสามารถคิดค่าเสียหายได้ 9,952 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าเสียหายต่อคนทั้งประเทศ (รวมทั้งโลกด้วย) ดังนั้นเมื่อเขื่อนสร้างเสร็จจึงมีต้นทุนที่แท้จริงไม่ใช่ 13,000 ล้านบาท แต่เป็น 22,952 ล้านบาท และมีค่าเสียหายต่อประเทศไปเรื่อยๆ อีกปีละ 9,952 ล้านบาท
กำไรคือประโยชน์ที่ได้มากกว่าต้นทุน แต่เวลาคิดต้นทุน ก็ต้องนำตัวเลขจากผลกระทบทั้งหมดมาใช้ในการพิจารณา ถ้ามั่นใจว่า ผล (ประโยชน์) ของเขื่อนแม่วงก์มากกว่าต้นทุนของประเทศ ก็ควรสร้างครับ