28 มกราคม 2555

ที่พึ่งอันปลอดภัย


ทุกวันนี้พุทธศาสนิกชน พากันเดินทางห่างไปจากศาสนาพุทธไกลออกไปเรื่อยๆ

พวกเรานิยมความสะดวก หันไปพึ่งไสยศาสตร์สำเร็จรูปต่างๆ
ละทิ้งอุดมการณ์สำคัญที่พระพุทธเจ้าสอนเราว่า
เราต้องพึ่งตัวเราเอง
คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้
บุคคลผู้ฝึกตนดีแล้ว
ย่อมได้ที่พึ่งที่ได้แสนยาก
-- ธรรมบท, พระพุทธเจ้า

หลายคนถือเอาเดียรถีย์ที่อ้างว่าสามารถแก้กรรมได้ เป็นที่พึ่ง
ทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นแนวคิดนอกศาสนาพุทธ แต่ใจก็ศรัทธา
เพราะเป็นวิธีที่ง่ายกว่าการปฏิบัติตามอริยมรรค
ตนทำบาปเอง ตนก็เศร้าหมองเอง
ตนไม่ทำบาป ตนก็บริสุทธิ์เอง
ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน
คนอื่นจะให้คนอื่นบริสุทธิ์แทนไม่ได้
-- ธรรมบท, พระพุทธเจ้า

หลังจากที่หมดโอกาสได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ผ่านไปสองพันห้าร้อยกว่าปี
มาวันนี้บางคนถือปฏิมากรรมเกี่ยวกับพระองค์
อย่างพระพุทธรูป หรือพระพุทธบาท เป็นที่พึ่ง
บางคนถือเอาเทวรูปของฮินดูเป็นที่พึ่ง ซึ่งเท่ากับเปลี่ยนศาสนา
เพราะศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนาที่สำเร็จด้วยการร้องขอบนบานแบบฮินดู
แต่ด้วยการฝึกตนเอง โดยมีพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ เท่านั้น เป็นที่พึ่ง
"คนเป็นจำนวนมาก เมื่อภัยมาถึงตัว
พากันยึดเอาสิ่งต่าง ๆ เป็นที่พึ่ง
อาทิ ภูเขา ป่าไม้ สวน
ต้นไม้ และเจดีย์
นั่นมิใช่ที่พึ่งอันปลอดภัย
นั่นมิใช่ที่พึ่งอันสูงสุด
อาศัยที่พึ่งชนิดนั้น
ก็ไม่พ้นทุกข์ทั้งปวงได้
ผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
ย่อมเห็นอริยสัจด้วยปัญญาอันชอบ คือ
ทุกข์, เหตุของทุกข์, ความดับทุกข์ และ
อริยมรรคมีองค์แปด อันเป็นทางดับทุกข์
นั่นแลคือที่พึ่งอันปลอดภัย
นั่นคือที่พึ่งอันสูงสุด
คนเราอาศัยที่พึ่งชนิดนั้น
ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง"
-- ธรรมบท, พระพุทธจ้า

Hooligan


อยากเห็นคนที่เกลียดทักษิณ ด่าทักษิณและเพื่อไทยไป
อยากเห็นคนที่รักทักษิณหรือเกลียดทหาร ด่าทหารและประชาธิปัตย์ไป
เพราะแบบนี้สังคมไทยจะดำเนินไปตามปกติ
และความเปลี่ยนแปลงที่ต้องการจะเกิดขึ้นในโอกาสที่ควรกับเหตุผล

ไม่อยากเห็นคนที่เกลียดทักษิณ ด่าคนที่รักทักษิณหรือเกลียดทหาร
ไม่อยากเห็นคนที่รักทักษิณหรือเกลียดทหาร ด่าคนที่เกลียดทักษิณ
ในขณะที่ผู้เล่นในสนามการเมืองเกี้ยเซี้ยกันสมประโยชน์ทุกฝ่าย
แฟนที่เชียร์แต่ละฝ่ายกลับตีกันถึงเลือดและชีวิต ซีเรียสกว่าเกมของผู้เล่น
เพราะแบบนี้สังคมไทยจะไม่มีทางออก
และความเปลี่ยนแปลงที่ฝ่ายหนึ่งต้องการ
จะเกิดด้วยความรุนแรงแบบที่ทุกคนประณาม
เพื่อทำให้อีกฝ่ายหนึ่งหมดไป.

by CottonIJoe

21 มกราคม 2555

Linux ครองโลกเรียบร้อย

วันนี้เจอคอมเมนต์หนึ่งในกระทู้พันทิบทำให้ผมตกใจมากว่า ถีงปี 2012 แล้ว ยังมีคนเข้าใจแบบนี้อยู่อีก
สมัยนี้ ลินุกซ์ มัน "ตาย" แล้ว

ถ้าเป็นเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว ผมก็คงไม่แปลกใจ แต่ทุกวันนี้ Linux อยู่รอบตัวเราจนถ้าอยากจะหนีก็มีชีวิตอยู่ไม่ได้แล้ว ในคอมมูนิตี้ของ Linux สมัยแรกๆ เรามีเป้าหมายที่จะครองโลก (World domination) แล้วพลังมดทั้งโลกก็มุ่งไปทางนั้นอย่างสนุกสนาน ปีที่แล้ว Linus Torvald บิดาของ Linux บอกว่าภารกิจนั้นเสร็จสิ้นแล้ว เพราะ Linux อยู่ทุกหนทุกแห่ง ปัจจุบันไม่มีใครสงสัยแล้วว่า Linux เป็น operating system ที่มี "ผู้ใช้" มากที่สุดในโลก ชนะขาดชนิดที่ OS อื่นเทียบไม่ติด

แต่เวลาคิดเรื่องนี้ต้องออกจากกะลา (กรอบความคิด) อันหนึ่งก่อน ว่า "ผู้ใช้" ในโลกนี้ไม่ได้ใช้แต่พีซี คนใช้พีซีเป็นคนส่วนน้อยนิดเมื่อเทียบกับผู้ใช้ device ที่เกิดขึ้นใหม่ในไม่กี่ปีหลังๆ นี้ กะลาอีกอย่างที่ต้องทิ้งไปคือ Linux ใช้ยาก เพราะ Linux เป็น OS kernel ที่ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้เท่านั้น ส่วน user interface (UI) ก็แล้วแต่ใครจะจัดลงไป

device ที่ทำให้ Linux มีผู้ใช้มากที่สุดในโลกก็คือ โทรศัพท์มือถือ dumb phone และ feature phone เกือบทั้งหมดใช้ Linux มีใครบ่นว่ามันใช้ยากไหม ทำไมต้องเป็น Linux? ก็เพราะถ้าคุณจะรัน Windows โทรศัพท์ก็จะต้องแรงขนาดราคาเกินหมื่นและก็ยังทำงานช้ามากอยู่ดี เชื่อไหมว่า โทรศัพท์ทื่อๆ ที่อากงใช้ส่ง SMS เป็นหรือไม่เป็นนั้น ก็เป็น Linux เมื่อนับ feature phone ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แล้ว บวกกับ Android smartphone และ tablet ซึ่งก็เป็น Linux เท่านี้ก็มากกว่าจำนวนพีซีที่รัน Windows แล้ว

ยังมี device อีกมากมายที่ทำงานด้วย Linux โดยผู้ใช้ไม่สังเกตแบบเดียวกับมือถือ อย่างเราเตอร์ที่เราใช้ต่ออินเทอร์เน็ตทุกตัว เรื่อยไปจนถึง TV จอแบนสมัยใหม่และ Internet TV และ TV ในเครื่องบิน ไปจนถึง set-top box ที่เราใช้ดูเคเบิ้ลทีวี สรุปว่า embedded device (device ที่ไม่ค่อยมี UI) เกือบทั้งหมดใช้ Linux จะมีก็แต่เครื่อง ATM ในบ้านเราเท่านั้นที่เห็นใช้ Windows อยู่

ฝั่งเซิรฟเวอร์ยิ่งไม่ต้องพูดถึง server ในองค์กรขนาดใหญ่ส่วนใหญ่เป็น Linux และกว่า 60% ของ web server เป็น Linux ก็ใครจะกล้าเสี่ยงเอาข้อมูลสำคัญไปไว้บน Windows ใช่ไหมครับ และถ้านับเฉพาะเว็บที่เราเข้าประจำอย่าง Google, Twitter, Facebook, ... และเว็บดังของไทยทั้งหมด ตัวเลขนี้ก็จะเป็น 100%

ทำการทดลองเปรียบเทียบความสำคัญของ OS

ถ้าอยากจะวัดความสำคัญของ OS เช่นเทียบกันระหว่าง Linux กับ Windows (หรือ Mac OS X ด้วยก็ได้) มาลองทำการทดลองทางความคิด (thought experiment) ดังนี้

  1. สมมุติว่าเรามีอำนาจทำให้ OS ชนิดหนึ่ง หยุดทำงานได้พร้อมกันทั้งโลก
  2. ครั้งแรก ลองนึกว่า ถ้าเราหยุดการทำงานของ Windows ในพีซี เซิรฟเวอร์ และ smartphone ทั้งหมดทั่วโลกพร้อมกัน รวมทั้ง ATM ในบ้านเรา จะมีผลกระทบอย่างไรต่อเราบ้าง
  3. คราวนี้ ลองนึกว่า ถ้าเราหยุดการงานของ Linux ใน device ทุกชิ้นไม่ว่าจะเป็นพีซี เซิร์ฟเวอร์ ทั้งเซิร์ฟเวอร์ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และการประปานครหลวงใช้ และเว็บเซิร์ฟเวอร์ส่วนใหญ่ ซึ่งคือเว็บที่เราใช้ทุกตัว รวมทั้งเราเตอร์ของเราและของ ISP ไปจนถึง โทรศัพท์ ทีวี รวมทั้ง device ที่ฝังอยู่ในรถ เครื่องบิน รถไฟฟ้า เครื่องเก็บเงินในห้างร้าน ฯลฯ
เมื่อทำการทดลองนี้แล้วเราจะตอบได้ทันทีว่า ขาด Linux ก็คือหายนะพอๆ กับโลกแตกเลยทีเดียว ตอนนี้เห็นภาพแล้วใช่ไหมว่า Linux เป็น OS ที่มีความสำคัญต่อมนุษย์มากที่สุด มีคนใช้มากที่สุด เว้นแต่ว่าคุณจะรู้จักคอมพิวเตอร์แต่เฉพาะที่เป็นเครื่อง PC

ประเด็นสำคัญที่ผมอยากย้ำคือ ทุกอย่างมีหน้าที่ของตัวเองในสังคม ทั้ง device, Linux, Windows และผู้ใช้ ชีวิตเราอยู่ได้ด้วยการประสานกันของเรา สังคม และสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยีเหล่านี้ การมีทางเลือกเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชีวิตเติบโตขึ้นมาด้วยการคัดสรรค์ทางธรรมชาติ มิฉะนั้นเราก็จะสูญพันธุ์ การมีซอฟต์แวร์หรือ OS หลายแบบเป็นเรื่องที่สวยงามและสร้างสรรค์ ยิ่งทุกวันนี้ OS มีความสำคัญต่อชีวิตเราพอๆ กับน้ำ ถนน หรือไฟฟ้า เพราะมันทำให้ device ทุกชนิดทำงานได้ ไม่งั้นมันก็เป็นแค่วัตถุ ผมจึงอยากให้เราเห็นความสำคัญของมัน 

Windows ถูกพัฒนาด้วยแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ และมีความก้าวหน้าที่ยอดเยี่ยมในฝั่งเดสก์ท็อป (แต่อาจจะแพ้ Mac OS X?) แต่ Linux ถูกพัฒนาขึ้นด้วยความรักของคนเป็นแสนเป็นล้าน ที่เขียนโค้ด และรายงานบั้ก จนได้เป็น OS ที่ทำงานได้อย่างไม่ผิดพลาด เหมาะกับงานที่สำคัญต่อชีวิตและทรัพย์สิน แม้ว่าอาจจะยังไม่เหมาะให้เราใช้บนพีซี

แต่สำหรับผม ผมรู้สึกขอบคุณทุกครั้งที่ตระหนักถึงความคิดที่ว่า ซอฟต์แวร์ที่ยอดเยี่ยมชิ้นนี้ สร้างขึ้นด้วยอาสาสมัครล้วนๆ ขอบคุณ engineer ทุกคนที่โค้ดแต่ละบรรทัด และขอบคุณ Linus ที่ตั้งโครงการนี้ขึ้นมา

14 มกราคม 2555

วันแสดงเครื่องมือแห่งสงคราม


โดยความเห็นส่วนตัว ผมไม่อยากเห็นเด็กไปเที่ยวเล่นอาวุธสงครามในวันเด็ก วันที่เด็กๆ รอคอยมาทั้งปี วันที่เขาเป็นพระเอกนางเอกของชาติ ผมอยากให้เขาได้เรียนรู้ตัวเอง เรียนรู้ชาติ เรียนรู้อดีตและอนาคต มากกว่าจะมาเรียนรู้เครื่องมือที่ใช้ประหารชีวิตคน

ผมคิดเช่นนั้นเพราะผมจำได้ว่าตอนเด็กๆ ก็ได้ไปเที่ยวในลักษณะนี้ และจำความรู้สึกได้ว่าได้รู้สึก
ชื่นชมกับเครื่องมือสังหารสุดเท่เหล่านั้น ซึ่งเป็นความรู้สึกเทียมที่ขัดต่อความเป็นจริง เหมือนเรื่องตุ๊กแกกินตับ หรือตอนดึกจะมีผี เพียงแต่อันนี้เราถูกหลอกให้ชอบแทนที่จะกลัว กว่าผมจะพอเข้าใจความจริงก็เมื่อเรียนได้เรียนรักษาดินแดน ได้ฝึกการใช้ปืนจากการสอนของทหารจริงๆ ที่มองเห็นจำนวนคนตายเป็นความสำเร็จ จึงนึกภาพออกว่าการฆ่านั้นเป็นอย่างไร และเครื่องมือในความทรงจำที่น่าตื่นเต้นนั้นแท้จริงน่ากลัวเพียงใด

พ้นจากยุคที่เราต้องสร้างอนาคตของชาติขึ้นมาเป็นทหารทุกคนเหมือนร้อยปีก่อน เดี๋ยวนี้เรามีอาชีพนักวิทยาศาสตร์ ครู วิศวกร หมอ ฯลฯ ที่สร้างอนาคตของชาติได้ ไม่จำเป็นแล้วที่จะต้องให้เด็กเล่นปืนเครื่องบินรบ และรถถัง ทั้งของจริงและของเล่น เรามีของเล่นที่สร้างสรรค์อย่าง Lego หรืออุปกรณ์ของอาชีพต่างๆ มากมายให้เด็กเล่น

ผมอยากให้เด็กได้ดูท้องฟ้าแล้วมองเห็นกาแล็กซี่ ให้เด็กมองในหยดน้ำแล้วเห็นจุลินทรีย์ ให้เด็กมองนาฬิกาแล้วเห็นเฟืองเกียร์ ให้เด็กได้เล่นสมมุติเป็นแม่ครัว เป็นครู เป็นพยาบาล เป็นพ่อค้า ผมอยากให้เด็กไทยรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไรตั้งแต่เด็กๆ ไม่ใช่ถามแล้วทุกคนบอกว่าอยากเป็นนายก ครู พยาบาล แล้วก็ทหาร ไม่กี่อาชีพที่มีเครื่องแบบ เพราะไม่เคยนึกภาพออกเลยว่าอาชีพอย่างวิศวกร ทนาย หรือนักบัญชี เขาทำอะไรกัน

ผมไม่ได้แอนตี้ทหารนะครับ แต่ผมแอนตี้สงคราม และเราไม่จำเป็นต้องให้เด็กรู้จักเครื่องมือของสงครามตั้งแต่ตอนยังเล็ก รอให้เขาตัดสินใจแน่นอนแล้วค่อยให้เขาได้ฝึกใช้มัน ก็ไม่ได้ทำให้เขาเก่งน้อยกว่าคนที่จับมันมาในตอนเด็ก พอๆ กับเหล้าที่ทำให้คนเมาได้เท่านั้น อาวุธสงครามก็ทำให้คนตายได้เท่านั้น ผมจึงเห็นว่าอาวุธสงครามไม่ใช่รางวัลแห่งจินตนาการที่เด็กๆ สมควรจะได้รับในวันนี้เลย.

9 มกราคม 2555

ทุกคนมีเวลา "ไม่" เท่ากัน


เวลาคนอื่นจะกระตุ้นให้เรากระตือรือร้นก็จะบอกว่า "ทุกคนมีเวลา 24 ชม.เท่ากัน"

ผมเถียงขาด "ไม่จริงครับ!"

หลายคนมีเวลาทำหน้าที่ 8 ชม. ใช้ 3 ชม.กับเดินทาง กับ 5 ชม.สันทนาการ ไม่ดูทีวีก็ช็อปปิงหรือเล่นเกม เหลือจากนั้นจึงพักผ่อนไม่เกิน 8 ชม.

แต่ถ้า 5 ชม.สันทนาการไม่พอก็จะต้องพักผ่อนน้อยลง เพราะอย่างไรรวมแล้วก็ต้องได้ 24 ชม. แต่เป็นเรื่องที่หลายคนยอมเป็นบางครั้ง (เช่นบอลบางนัด) หรือเป็นปรกติ (ต้องทำแต้มในเกม)

บางคนบอก 5 ชม.นั้นเป็นการพักผ่อน ถ้างั้นทำไมเวลาที่เพิ่มกิจกรรมส่วนนี้แล้ว กลับรู้สึกเพลียจนวันรุ่งขึ้นทำอะไรไม่รู้เรื่องไปเลย จนจำเป็นต้องไป "พักผ่อน" ในที่ทำงานชดเชยส่วนที่ขาดหายไป

ดังนั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนมีเวลา 24 ชม.เท่ากัน โลกไม่ได้ยุติธรรมขนาดนั้น เราต้องวัดกันว่ามีเวลาทำหน้าที่จริงๆ ได้กี่ ชม. ทำอะไรก็ตามที่สร้างประโยชน์ให้กับตัวเอง หรือสังคมรอบตัว หรือทั้งสองอย่าง

บางคนเอาเปรียบชาวบ้าน เพราะมีเวลาทำหน้าที่ได้ 13 ชม.เพราะเขาไม่ดูทีวี ช็อปปิง หรือเล่นเกม บางคนมีเวลา 16 ชม. เพราะอ่านหนังสือหรือฟังหนังสือเสียงเวลาเดินทาง บางคนมีเวลามากกว่านั้นเพราะมีร่างกายพิเศษแบบมาร์กาเรต แทตเชอร์ ที่ต้องการนอนเพียงวันละ 4 ชม.

ทุกคนจึงมีเวลาไม่เท่ากัน

และนั่นแหละคือความอยุติธรรม ความไม่เสมอภาค เพราะเขาสามารถเติบโตในทางวุฒิภาวะ ในทางสังคม ในทางเศรษฐกิจ ได้มากกว่าคนที่มีเวลาน้อยกว่า

การแข่งกับคนแบบนี้ไม่แฟร์เลย เพราะต่อให้เรา (ในอุดมคติ) วิ่งแบบเต็มที่ตลอดวันละ 8 ชม. แต่เขาวิ่งวันละ 13-16 ชม. สัปดาห์หนึ่งเราวิ่ง 5 วัน แต่เขาวิ่งสัปดาห์ละ 7 วัน ปีหนึ่งเราน่าจะวิ่งได้ 20,800 km แต่เขาจะวิ่งได้ 47,320 km ถึง 58,240 km

แค่ปีเดียวยังเสียเปรียบกันขนาดนี้ แล้วถ้า 10 ปีล่ะ?

ถ้าคนเดียวยังเสียเปรียบขนาดนี้ แล้วถ้าเอาสองประเทศมาเทียบกันล่ะ?

เคยได้ยินคำว่า "ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ" ของบางประเทศใช่ไหมครับ มันมหัศจรรย์ตรงที่เขาเอาเปรียบเรากันขนาดนี้ เพราะประเทศเหล่านี้ไม่ดูทีวีกันตลอดเวลาแบบคนไทย หรือเล่มเกมตลอดเวลาแบบเด็กไทย ในวัยที่มีแรงจะทำหน้าที่ได้มากที่สุด

ยิ่งอยุติธรรมเข้าไปอีก เมื่อคิดว่าทุกคนมีเวลาที่เหลือไม่เท่ากัน เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาใหญ่ของทุกคนที่ต้องตัดสินใจสำหรับเวลาที่เหลือ

ความยุติธรรมไม่มีวันมาหาเราด้วยตัวเอง หากเราต้องการความยุติธรรม ไม่ว่าจะในระดับใด เป็นไปไม่ได้ด้วยการอยู่เฉยๆ แต่เราต้องสร้างความเปลี่ยนแปลง

เริ่มต้นที่ตัวเอง.