27 มีนาคม 2558

สะกดจิตพิชิตโรค..จริงหรือ?

จากรายการ U-Life ออกอากาศที่ช่อง UBC 7
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2545 เวลา 21.00 น.
ดำเนินรายการโดย
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา
วิทยากรรับเชิญ
ผู้ช่วยศาตราจารย์แพทย์หญิงจันทิมา องค์โษฆิต ไกรฤกษ์ จิตแพทย์
อาจารย์พิเศษคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลศิริราช


พิธีกร อาจารย์จันทิมา เป็นจิตแพทย์ที่จบด้านสะกดจิต จากสหรัฐอเมริกา อาจารย์เคยทำงานที่ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ขณะนี้อาจารย์เป็นอาจารย์พิเศษที่ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีและโรงพยาบาลศิริราช อาจารย์มีความสนใจและศึกษาในเรื่องการสะกดจิตมานาน อาจารย์ทำด้วยตัวเองมาช่วงหนึ่ง จะเป็นอย่างไร จะทำต่อหรือไม่ทำต่อ ปัจจุบันนี้อาจารย์ยังทำอยู่หรือไม่ สมัยก่อนมีการเรียนรู้กันอย่างไรครับ และมีความสำคัญอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องสะกดจิตครับ

ผศ.พญ.จันทิมา จริงๆแล้วเรื่องสะกดจิตไม่ได้อยู่ในหลักสูตรนะคะ แต่ตัวเองเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ ตอนที่เป็นแพทย์ประจำบ้าน มีอาจารย์หลายท่านที่ทำสะกดจิตแต่ตอนนั้นไม่ได้สนใจ แต่หลังจากที่จบมาได้ไปทำงานเป็นอาจารย์อยู่ที่ Univercity Of Erinoy ตอนนั้นมีนักจิตวิทยาคนหนึ่งที่เป็นนักสะกดจิตอันดับหนึ่งของอเมริกา ได้ทำงานร่วมกัน ด็อกเตอร์ฟินเป็นนายกของสมาคมนักสะกดจิตของสหรัฐอเมริกา

พิธีกร ย้อนหลังไปกี่ปีครับ

ผศ.พญ.จันทิมา ประมาณยี่สิบกว่าปีที่แล้วค่ะ ที่สอนอยู่ที่เมืองนอก

พิธีกร ตอนนั้นมีคนสนใจเยอะใช่ไหมครับ

ผศ.พญ.จันทิมา เป็นบางคนค่ะ เผอิญความสนใจได้เกิดขึ้น เพราะได้ทำงานกับคนที่เก่งมากในเรื่องนี้ ก็เลยได้ศึกษาเรื่องนี้และเรียนรู้เรื่องนี้จากด็อกเตอร์ฟินว่า การสะกดจิตคืออะไร จากประสบการณ์ของตัวเองทั้งสะกดผู้อื่น และตัวเองก็เคยถูกสะกดมาแล้ว เพราะนักสะกดจิตทุกคนควรจะต้องถูกสะกดมาแล้ว ทำอยู่ประมาณห้าถึงเจ็ดปี ตอนที่กลับมาเมืองไทย ตอนที่อยู่ที่รามาธิบดีนั่นยังสะกดจิตอยู่ และยังสอนแพทย์ประจำบ้านด้วย แต่หลังจากนั่นประมาณสี่ห้าปีก็ไม่ได้ทำแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่ได้ใช้วิธีสะกดจิตอีกเลยค่ะ

พิธีกร สะกดจิตคืออะไรครับ ที่พูดๆกันไม่รู้ว่าความหมายตรงกันหรือเปล่า เพราะเห็นในทีวีบอกว่าเอามือไปแตะนิดหนึ่ง คนก็อยู่ในภวังค์แล้ว อย่างนั้นใช่หรือไม่ หรือต้องมานั่งพูดคุยกันทำให้เห็นอะไรโยงไปโยงมา รบกวนอาจารย์ช่วยอธิบายให้เข้าใจด้วยครับ

ผศ.พญ.จันทิมา วิธีสะกดจิต คือ การใช้วิธีการพิเศษ ใครจะใช้วิธีไหนเดี๋ยวเราจะพูดในรายละเอียดต่อไป การใช้วิธีพิเศษที่จะดึงให้คนที่ถูกสะกดให้สมองและจิตใจของเขาตกอยู่ในภวังค์ ภวังค์นี้จะเป็นภวังค์ที่สมองผ่อนคลายมาก ไม่ใช่หลับแต่ก็อาการรับรู้จะเปลี่ยนไป ภาวะนี้จะทำให้คนคนนั้นสามารถที่จะเรียนรู้

พิธีกร เหมือนกับครึ่งหลับครึ่งตื่น

ผศ.พญ.จันทิมา ครึ่งหลับครึ่งตื่นอยากจะอธิบายว่า เคยหรือไม่ที่หมอมองอะไรแล้วเหม่อ คิดอะไร เดินไปมาหรือทำอะไรแล้วไม่รู้ตัว

พิธีกร คล้ายกับเหม่อๆ แต่เราไม่ได้หลับ เราคิดอะไรบางอย่างอยู่

ผศ.พญ.จันทิมา จริงๆ แล้วไม่ได้หลับ แต่ก็ไม่ใช่ตื่นร้อยเปอร์เซ็นต์ การรับรู้จะเปลี่ยนแปลงไป เมื่อภาวะการรับรู้เปลี่ยนแปลงไป จะมีความสำคัญมาก เพราะว่าคนเราจะใช้เหตุผลอยู่ตลอดเวลา เช่น สมมุติว่าเราเดินไป เราเห็นสีดำแต่คนบอกว่าเป็นสีแดง เราจะบอกว่าไม่จริง คือ เราต้องอยู่ในความเป็นจริง เราต้องรู้ว่าเหตุผลคืออะไร เราจะต้องใช้เหตุผล แต่เมื่อไหร่ที่อยู่ในภาวะสะกดจิต ภาวะที่ใช้เหตุผลนี้จะใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องเชื่อตามเหตุผลของคนที่สะกดเรา เพราะฉะนั้นคนที่ถูกสะกดจะถูกคนสะกดโน้มน้าวได้สามารถที่จะพูดนำได้ เพราะฉะนั้นจะพูดให้ร้อน หนาว ให้ตัวลอย ตัวเบาได้หมด เพราะว่าร่างกายเราสามารถทำได้หลายอย่าง ถ้าถูกโน้มน้าวในวิธีที่เขาถูกฝึกฝนมา

พิธีกร ผมเห็นการแสดงโชว์ของต่างประเทศ มีการเอาคนทางบ้านมาสะกดจิตให้ทำอะไรแปลกๆ คนรอบๆ ข้างนั่งหัวเราะกัน รวมถึงทีวีเมืองไทยบางช่องก็มีการเอาคนมาสะกดจิต แล้วให้ล้มตึงบนฟูกๆ นั่นคือการสะกดจิตอันเดียวกับที่อาจารย์พูดหรือเปล่าครับ

ผศ.พญ.จันทิมา มีหลายวิธีนะคะ สะกดจิตก็มีสะกดจริงสะกดปลอมด้วยเหมือนกันนะคะ การสะกดจิตจะต้องทำให้คนอยู่ในภวังค์ให้ได้ แต่ละคนอาจจะมีเทคนิคไม่เหมือนกัน ในบางครั้งเราอาจจะเห็นเขาแกว่งลูกแก้ว แกว่งกุญแจ เพื่อดึงสมาธิของคนนั้นให้เกิดสภาวะจิตใจว่าง สมองไม่ทำงานไปชั่วคราว แต่บางคนอาจจะใช้วิธีโน้มน้าว เช่น บอกว่าจะรู้สึกหนักขึ้น สบายขึ้น ผ่อนคลายขึ้น แล้วแต่เทคนิคของคนที่สะกดค่ะ

พิธีกร สะกดได้หลายวิธี

ผศ.พญ.จันทิมา ใช่ค่ะ แต่คนที่สะกดต้องฝึกฝนมาถึงจะรู้ว่าสามารถที่จะโน้มน้าวคนที่ตัวเองจะสะกดได้ เพราะถ้าใช้เทคนิคที่ผิด คนถูกสะกดไม่โน้มน้าว ไม่ทำตามก็ไม่สามารถเข้าสู่สภาวะที่ถูกสะกดจิตได้ ที่คุณหมอบอกว่าชี้ทีเดียวแล้วถูกสะกด จริงๆ แล้วเคยคุยกับด็อกเตอร์ฟิน ซึ่งเป็นมือหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เขาบอกว่าจริงๆแล้วไม่มีทางที่เราจะไปสะกดใครได้แบบนั้น แต่เขามีเทคนิคค่ะ เขาจะค่อยๆ สะกดไปในระหว่างที่เขาพูดไปเรื่อยๆ เพราะว่าคนบางคนจะถูกสะกดจิตง่าย คน 5% จะสะกดจิตไม่ได้ แต่ 95%จะถูกสะกดจิตได้ แต่เป็นระยะหนึ่ง แต่มีบางคนประมาณ 5-20% ที่อาจจะสะกดได้ง่ายมาก เพราะฉะนั้นคนที่สะกดเขาจะรู้ว่าคนนี้ง่าย เพราะฉะนั้นเวลาที่เขาพูดว่าเขาจะทำอะไร เล่าให้คนฟัง เขาได้สะกดคนนั้นไปแล้วค่ะ

พิธีกร อาจารย์ช่วยเล่าเรื่องการสะกดจิตของด็อกเตอร์ฟินให้ฟังได้ไหมครับ

ผศ.พญ.จันทิมา ได้ค่ะ เวลาที่เราไปงานเลี้ยงกัน คนก็จะถามเขาว่า สะกดจิตเป็นยังไง เขาก็จะบอกว่า เวลาที่ผมสะกด ผมจะนับหนึ่งถึงสิบ เวลาที่ผมนับ คนนั้นจะตกอยู่ในภวังค์ลึกขึ้นๆ เขาก็ทำเป็นเล่า แต่ที่แท้เขาสะกดจิตลูกสาวของเจ้าของบ้านไว้แล้ว เพราะเขาเห็นว่าลูกสาวของเจ้าของบ้านถูกโน้มน้าวง่ายมาก และก็ฟังเขาอยู่ คนก็ถามว่าถ้าไม่ใช่วิธีนั้นได้หรือไม่ เขาก็บอกว่าได้ ผมพูดว่า elephant แล้วดีดนิ้วเขาจะหลับทันที เวลาที่เราทานข้าวกันเขาก็ถามอีกว่า ช่วยสะกดชนิดแบบดีดนิ้วแล้วหลับทันทีให้ดูหน่อย ด็อกเตอร์ฟินก็หันไปที่ลูกสาวของเจ้าของบ้านที่ถูกสะกดไว้แล้ว และพูดว่า elephant แล้วดีดนิ้ว ลูกสาวเจ้าของบ้านหลับทันทีเลยค่ะ

พิธีกร หัวทิ่มลงชามข้าวเลยหรือเปล่าครับ

ผศ.พญ.จันทิมา ใช่ค่ะ ทุกคนเฮและตบมือให้ด็อกเตอร์ฟิน เขาชมว่าด็อกเตอร์ฟินเก่ง แต่เรารู้ว่าจริงๆแล้วด็อกเตอร์ฟินสะกดไว้แล้ว เหมือนกับเวลาที่เราไปดูมายากลที่สะกดจิตเก่งๆ พวกนี้สะกดจิตเก่งกว่าจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเยอะนะคะ แต่เขาไม่รู้ว่าเขาทำอะไรอยู่ แต่เขามีเทคนิค เพราะฉะนั้นเวลาที่เขาเรียกคนขึ้นมา คนพวกนั้นจะถูกสะกดไว้แล้ว ถึงได้ขึ้นมา หรืออาจจะเป็นคนที่อยากลองอาจจะมีขึ้นมาบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพวกที่ถูกสะกดแล้ว แต่มีบางคนที่อาจจะสะกดไม่เป็นแต่มีหน้าม้า ต้องระวังเหมือนกันค่ะ

พิธีกร การสะกดจิตทำไปเพื่ออะไรครับ

ผศ.พญ.จันทิมา จริงๆแล้วสะกดจิตมีประโยชน์มากนะคะ ในวงการของสุขภาพจิต และสำหรับคนที่ป่วยบางประเภท แต่ต้องเลือกให้เหมาะสม เช่น ถ้าเราสะกดจิตให้คนไข้อยู่ในระยะหนึ่งหรือระยะสอง การสะกดจิตแบ่งเป็นห้าระยะ มีความลึกแตกต่างกัน ระยะห้าเท่ากับโคม่า ระยะหนึ่งเท่ากับเริ่มทำสมาธิ ถ้าระยะหนึ่งสองสามอาจจะมีประโยชน์เอามาใช้ได้ ในคนไข้ที่ต้องการผ่อนคลาย ในคนไข้ที่เครียด ในคนไข้นอนไม่หลับหรือเปลี่ยนนิสัยคน ซึ่งตรงนี้จะได้รับความนิยม เช่น คนที่อยากหยุดสูบบุหรี่ เพราะสมัยก่อนเราไม่มียา เพราะฉะนั้นคนจะพึ่งการสะกดจิต หรือจะเปลี่ยนนิสัยคนที่ทานมากเกินไปจนอ้วน ก็สามารถใช้การสะกดจิตช่วยได้ค่ะ

พิธีกร เป็นตัวช่วยหรือเปลี่ยนให้ถาวรครับ

ผศ.พญ.จันทิมา เป็นครั้งคราวค่ะ ไม่สามารถเปลี่ยนได้ถาวรค่ะ แต่เวลาที่ถูกสะกดคนคนนั้นจะเกิดการผ่อนคลาย เราสอนให้เขาเกิดการเรียนรู้ใหม่ เช่น เราสะกดจิตคนที่ติดบุหรี่ เวลาที่เราสะกดเขาอยู่ในภวังค์ เรารู้ว่าระยะที่สองเขาจะฟังเรา เราสามารถจะโน้มน้าวเขาได้เขาจะเชื่อเรา เขาจะเกิดการเรียนรู้ใหม่ เราจะใช้ระยะระหว่างสะกดก่อนที่จะถอนบอกกับเขาว่า ต่อไปนี้เมื่อไหร่ที่คุณเห็นบุหรี่ คุณจะรู้สึกไม่สบายมาก และถ้าคุณสูบ มันจะขมและมีรสแย่มาก และคุณจะบอกว่าคุณจะไม่สูบอีกแล้ว ถ้าเขาอยู่ในระยะที่สองเขาจะฟัง และเราก็จะบอกกับเขาว่า ต่อไปนี้ที่เห็นบุหรี่ทุกครั้งและทุกครั้งที่สูบบุหรี่จะยิ่งเบื่อมากขึ้น เราจะโน้มน้าวให้สมองคิดแบบนี้ หลังจากที่เราถอนสะกดจิตแล้ว การสะกดจิต ผู้สะกดจิตที่ดีต้องถอนด้วย เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะเกิดความผิดปกติขึ้นกับคนที่ถูกสะกดไว้ เมื่อเราถอนสะกดจิตแล้วแต่คำสั่งของเรายังอยู่ ถ้าเขาสูบบุหรี่เขาจะเบื่อ เพราะรสมันจะเปลี่ยนไปค่ะ

พิธีกร สั่งได้เลย

ผศ.พญ.จันทิมา แต่ก็เลือนได้ค่ะ ส่วนมากเราจะให้เทปคนไข้ไปด้วยและให้เปิดฟังทุกวันค่ะ

พิธีกร เทปอะไรครับ

ผศ.พญ.จันทิมา เทปที่เราใช้คำสั่งไว้ค่ะ

พิธีกร เปิดเพื่อให้เขาสะกดจิตตัวเอง

ผศ.พญ.จันทิมา เพื่อให้เขาฟังคำพูดของเราเพื่อสะกดต่อค่ะ

พิธีกร สะกดต่อที่บ้านได้

ผศ.พญ.จันทิมา ใช่ค่ะ แต่คนไข้ก็จะมีวิธีค่ะ คนที่ไม่อยากเลิกบุหรี่จริงๆ บ่อยครั้งมากพอได้ยินเสียงเราเขาจะหลับทันที เขาไม่อยากให้เราสะกด เขาไม่เข้าภวังค์ได้หนเดียวครั้งต่อไปเขาจะหลับ เพราะฉะนั้นถ้าจิตใจคนเราไม่อยากจะทำเอาเทปไปก็ไม่ได้อยู่ดีค่ะ

พิธีกร เขาต้องเปิดใจยอมรับเราด้วย

ผศ.พญ.จันทิมา เราต้องทำให้เขาอยู่ในภาวะนั้น เหมือนวัคซีนต้องให้อยู่ทุกวัน เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ไม่ได้ใช้แล้วค่ะ

พิธีกร บางคนก็ไม่เชื่อว่าเรื่องนี้รักษาได้จริงหรือไม่ เกี่ยวกับทางด้านจิตใจ

U-Life คนทั่วไปเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องตรงนี้

  • เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง
  • ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล บางคนเขาเชื่อว่าพวกนี้ว่าจะทำให้เขาดี แต่ผมไม่เคยทดลองพวกนี้ก็เลยไม่คิดว่ามันจะดีครับ
  • ด้านที่เชื่อ คือ สภาพของจิตใจครับ บางส่วนก็มีผลต่อการรักษาโรคของคนเรา แต่ที่ไม่เชื่อเพราะอาจจะไม่ได้ช่วยรักษาทุกโรค บางโรคอาจจะรักษาไม่ได้
  • ตอนเด็กๆเคยรถล้มหน้าบ้านคนจีนค่ะ ข้อแขนจะเคล็ดมาก เขาจะจับแขนและบอกว่าตั้งจิตให้ว่าง มือเขาจะจับที่แขนเรา แล้วเราก็หายปวดค่ะ ก็เลยรู้สึกว่าเชื่อค่ะ
  • การเจ็บป่วยก็กระทบต่อจิตของคนเรา ถ้าจิตใจของเราเข้มแข็งพอที่จะต่อต้านโรคได้ เช่น โรคเอดส์ ถ้าเราคิดว่าเราต้องตายแน่นอน จิตใจเราเป็นไปในทางนั้น สภาพร่างกายเราก็จะอ่อนแอลง แต่ถ้าเราคิดว่าเรายังมีประโยชน์อยู่ เราต้องเข้มแข็งไว้ อาจจะสามารถอายุยืนอยู่ได้ครับ

พิธีกร หลายคนเชื่อ หลายคนก็ไม่เชื่อ จึงเป็นเรื่องที่เราอยากมาหาข้อสรุปในวันนี้ครับ ดูจนจบรายการแล้วท่านลองเอาไปคิดดูครับ เกี่ยวกับเรื่องสะกดจิตตรงนี้

ทางบ้าน ผมเคยอ่านในหนังสือ เขาบอกว่ามีเทคนิคที่จะทำให้คนไข้ย้อนละลึกไปในอดีตหลายๆชาติได้ ไม่ทราบว่าเป็นจริงหรือไม่ครับ

ผศ.พญ.จันทิมา หมอได้อ่านหนังสือเล่มนั้นแล้วนะคะ สำหรับตัวเองอยากจะบอกว่าวิธีนี้เขาไม่ใช้กันแล้ว เมื่อครั้งหนึ่งตอนที่เราเริ่มสะกดจิตเมื่อปี ศตวรรษที่ 17 เมสเมอร์ใช้วิธีสะกดจิต เพราะคนไข้มีอาการทางกายที่มาจากปัญหาทางด้านจิตใจ แล้วสะกดเพื่อจะให้รู้ว่าอะไรเป็นต้นเหตุทางจิตใจ แต่หลังจากนั้นเราได้พัฒนามาจนถึงปัจจุบันนี้ เราเข้าใจถึงสาเหตุของโรคทางจิตใจมากกว่าเดิมแล้วว่า ไม่ใช่เรื่องหนึ่งเรื่องใดที่เราจะไปย้อนความจำ ให้จำได้แล้วจะหาย ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ที่หายหายจากการแนะนำของหมอเวลาที่ทำการสะกดจิตค่ะ แต่ถ้าพูดถึงว่าจะระลึกชาติถึงชาติอื่นได้หรือไม่ ตัวหมอเองไม่เชื่อว่าเป็นไปได้ ต้องขอเตือนด้วยว่าการสะกดจิตที่ทำให้ระลึกถึงอดีต(ในชีวิตนี้) ยังต้องถามต่อว่ายืนยันได้อย่างไร ว่าเป็นความจริง ตอนนี้ที่อเมริกากำลังฟ้องร้องกันมาก เพราะถือว่าโน้มน้าวให้ผู้ป่วยไปมีความคิดที่ผิดๆ ไปเชื่อว่าตัวเองมีอดีตเช่นนั้น เช่นนี้ ซึ่งไม่เป็นความจริง เช่น บางคนคิดว่าตัวเองถูกทำร้ายจิตใจ หรือถูกล่วงเกินทางเพศโดยพ่อแม่ตัวเอง ซึ่งไม่เป็นความจริง พ่อแม่จะฟ้องผู้รักษาว่าไปโน้มน้าวคนไข้ให้เชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง ถ้าจะตอบคำถามของคุณผู้ถามว่า ถ้าในชีวิตนี้ยังบอกไม่ได้ว่าแม่นยำหรือไม่ ถ้าถามว่าย้อนไปถึงอดีตเมื่อชาติก่อนยิ่งยากใหญ่ แต่อย่างน้อยก็ไม่มีใครมาฟ้อง เป็นเพียงจินตนาการ สำหรับหมอเองได้อ่านมาแล้ว คิดว่าคนที่รักษาเข้าไปผูกพันมากเกินไป จนเข้าไปปรากฏอยู่ในชีวิตของคนไข้เสียด้วยซ้ำ คิดว่าคนรักษาอาจจะมีปัญหาบางระดับค่ะ 

พิธีกร ตั้งแต่หนังสือเล่มนี้ออกมา เข้าใจว่ามีคนเชื่อในเรื่องของสะกดจิตเยอะมาก เพราะผู้เขียนเป็นหมอ เลยทำให้ได้รับความสนใจอย่างมาก มีโรคอะไรที่สามารถรักษาด้วยการสะกดจิตได้บ้างครับ และมีโทษหรือประโยชน์อย่างไรบ้างครับ

ผศ.พญ.จันทิมา ถ้าเป็นโรคนะคะ หมอคิดว่าจะรักษาโรคได้ยากค่ะ

พิธีกร รักษาโรคไม่ได้

ผศ.พญ.จันทิมา อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวังมาก คนที่สะกดจิตจะต้องรู้จักแยกแยะ ว่าตัวเองรักษาอาการอะไร หรือผู้ที่มาปรึกษานั้นเป็นโรคอะไร เช่น คนไข้เป็นโรคซึมเศร้า ซึมเศร้าสะกดจิตเท่าไหร่ก็ไม่มีทางหาย เพราะเราทราบกันแล้วว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกี่ยวกับสารเคมีในสมอง เป็นเรื่องของร่างกาย คนไข้มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับยาที่เหมาะสม เพราะฉะนั้นจะสะกดจิตก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้ และอาจจะมีปัญหาทำให้เกิดอยากตาย เพราะว่าเกิดสภาวะที่ถดถอย ความเป็นจริงถูกบิดเบือน เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่ารักษาโรค ถ้าเป็นโรคทางจิตเวชก็คิดว่าไม่แนะนำค่ะ แต่รักษาบางอาการมีประโยชน์ค่ะ

พิธีกร เรียกว่ารักษาอาการดีกว่า มีอาการอะไรบ้างครับ

ผศ.พญ.จันทิมา อาการนอนไม่หลับ มีอาการปวด แต่ต้องแน่ใจว่าไม่มีโรคทางกายแล้วนะคะ การใช้วิธีสะกดจิตโดยไม่ระมัดระวัง ผู้ป่วยอาจจะมีโรคทางกายอยู่ก็จะเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยค่ะ

พิธีกร ต้องมีอาการไม่หนักมากใช่ไหมครับ

ผศ.พญ.จันทิมา คนเลือกต้องเลือกให้เหมาะสม และต้องระวังด้วยว่า เวลาที่บอกให้เขาไม่มีอาการ เราจะเอาอะไรทดแทนให้เขา เช่น คนไข้หน้ากระตุกเพราะเครียด เราจะไปสะกดเขาแล้วบอกให้เขาหยุดหน้ากระตุก ตรงนี้ไม่ถูกต้องค่ะ

พิธีกร ไม่ได้ด้วยหรือเปล่าครับ หรือว่าได้

ผศ.พญ.จันทิมา ได้ค่ะ แต่เขาอาจจะเกิดอาการอื่นที่หนักกว่าหน้ากระตุก เพราะฉะนั้นเราจะต้องทดแทนอาการให้ เราจะบอกว่าคุณจะไม่กระตุกหน้า แต่ทุกครั้งแทนที่คุณจะกระตุกหน้าคุณจะเคาะนิ้ว เพราะฉะนั้นคนไข้อาจจะเคาะนิ้วค่ะ

พิธีกร ยังไม่เสียบุคลิกเท่าไหร่

ผศ.พญ.จันทิมา เราจะต้องหาวิธีทดแทนอาการให้เขาค่ะ

พิธีกร คนที่จะเลือกวิธีการรักษาควรจะเป็นแพทย์หรือเปล่าครับ

ผศ.พญ.จันทิมา จิตแพทย์ที่สะกดจิตตอนนี้คงมีน้อย เพราะหมอเองก็ไม่ได้สะกดแล้ว ต้องแน่ใจว่านักสะกดจิตเป็นคนที่ตัวเองไว้ใจได้จริงๆ เป็นผู้ที่ได้รับการฝึกอบรม เป็นผู้ที่มีจรรยาบรรณ มีจริยธรรม

พิธีกร เหมือนเราเอาชีวิตไปฝากไว้กับเขาเลยครับ

ผศ.พญ.จันทิมา ถูกต้องค่ะ เป็นเรื่องใหญ่ค่ะ เพราะว่าเวลาที่เราให้ใครสะกดจิตเขาจะโน้มน้าวเราได้ เพราะฉะนั้นคนคนนั้นจะต้องเป็นคนที่เราไว้วางใจในตัวเขา ว่าเขาจะเป็นคนดี แล้วเขาจะพาเราไปในทางที่ถูก และต้องการทำเพื่อผลประโยชน์ของเรา ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของเขา

พิธีกร ใช่ครับ เพราะเขาสั่งเราได้ทุกอย่างในขณะที่เราอยู่ในภวังค์อย่างนั้น ถ้าต้องการที่จะไปสะกดจิต ฟังดูไม่ง่ายแล้ว เพราะถ้าคนสะกดจิตไม่ได้เป็นแพทย์ และตอนนี้แพทย์ที่ทำการสะกดจิตก็มีน้อยมากหรืออาจจะไม่มีเลย

ผศ.พญ.จันทิมา อย่างน้อยต้องเป็นนักจิตวิทยาจะเป็นผู้ฝึกที่มีความรู้ ได้รับการอบรมและมีหลักการ เพราะว่าตอนนี้เขาพยามมากที่จะตั้งสมาคมเพื่อควบคุมจรรยาบรรณของนักสะกดจิต เพราะว่าคนที่สะกดจิตสามารถที่จะทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรได้ค่ะ

พิธีกร ถ้าไปสะกดจิตให้เซ็นเช็คสักล้านหนึ่งก็ทำได้ใช่ไหมครับ

ผศ.พญ.จันทิมา ถ้าสะกดได้ในระยะลึกพอนะคะ สั่งให้ทำอะไรก็ต้องทำค่ะ

พิธีกร ได้หมดเลย

ผศ.พญ.จันทิมา ถ้าสะกดจิตถึงระยะสี่ บอกให้กระโดดนึกว่าตัวเองเป็นไก่ก็ยังต้องกระโดดเลยค่ะ

พิธีกร ใช่ครับ ผมเห็นในทีวีบอกให้ทำท่าประหลาดๆตีปีกกันเป็นแถวเลยครับ

ผศ.พญ.จันทิมา กลายเป็นตัวตลกไปเลย ก็ต้องเป็น ถ้าไม่เป็นจะอึดอัดและไม่สบายเป็นต้น เพราะฉะนั้นการที่จะให้ใครสะกดจิตควรจะต้อง ระวังมากๆ ว่าได้เลือกเฟ้นคนที่ตนเองไว้ใจแล้ว ว่าเขาจะรักษาและช่วยเหลือตัวเอง ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของเขา มีบางคนกลายเป็นลัทธิไปเลย เสียเงินเสียทอง กลายเป็นสาวกของลัทธินั้นลัทธินี้ แม้กระทั่งบางอันก็อาจจะเป็นอันตราย เช่น เรื่องของจิมส์โจน ที่ฆ่าตัวตายโดยการทานไซยาไนท์เก้าร้อยคน

พิธีกร ใช่ครับ เข้าไปอยู่ในห้องประชุมใหญ่ๆ และฆ่าตัวตายทีเดียวพร้อมกันหมด เมื่อหลายปีมาแล้ว

ทางบ้าน อยากทราบว่าปัจจุบันมีที่ไหนใช้การสะกดจิตรักษาโรคบ้างหรือไม่ ช่วยบอกให้ด้วยค่ะ

ผศ.พญ.จันทิมา ไม่มีข้อมูลค่ะ ต้องขอประทานโทษด้วยค่ะ

พิธีกร อาจารย์เอง

ผศ.พญ.จันทิมา หมอไม่ได้สะกดจิตมาสิบกว่าปีแล้วค่ะ ตอนนี้เกษียณแล้วค่ะ

ทางบ้าน สะกดจิตในการลดความอ้วนเป็นอย่างไร ทำได้อย่างไร

ผศ.พญ.จันทิมา จะโน้มน้าวเวลาที่สั่ง เราจะบอกว่าทุกครั้งที่เห็นอาหารจะรู้สึกว่าอิ่ม ทุกครั้งที่ทานจะรู้สึกไม่อร่อยเลย หรือรู้สึกเบื่อเป็นต้น อันนี้เราจะโน้มน้าวว่า ทุกครั้งที่เขาเห็นอาหารเขาจะเบื่อไปเองค่ะ

พิธีกร ทำให้ความรู้สึกหิวตรงนั้นให้ลดน้อยลง

ผศ.พญ.จันทิมา ถูกต้องค่ะ เพราะฉะนั้นคนที่สะกดจะต้องมีศิลปะว่าจะทำอย่างไร ให้ในจิตใจของคนนี้ไม่ต้องการอาหาร จริงๆแล้วในการสะกดจิตสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การโน้มน้าว คำสั่งของเรา อันนี้จะสำคัญที่สุดเป็นตัวที่รักษาค่ะ

พิธีกร เป็นการลดความหิวครับ ไม่ได้ลดความอ้วนทั้งหมด ต้องทำบ่อยๆ ถี่ๆ ออกกำลังกายจะดีกว่าหรือไม่ครับ

ผศ.พญ.จันทิมา ใช่ค่ะ

พิธีกร มานั่งสะกดจิตจะนานไปหน่อยครับ

ทางบ้าน การที่มีคนทำให้ช้อนงอได้ เป็นการสะกดจิตหรือเปล่าครับ

ผศ.พญ.จันทิมา คิดว่าสะกดเหล็กคงไม่ได้ค่ะ เพราะว่าเหล็กไม่มีสมอง คิดว่าจะเป็นมายากลค่ะ

พิธีกร ไม่รู้ว่าเป็นอะไร

ผศ.พญ.จันทิมา ไม่แน่ใจว่าเป็นอะไร แต่ไม่ใช่สะกดจิตค่ะ

ทางบ้าน วิธีการรักษาด้วยการสะกดจิตทำให้เราลืมเรื่องบ้างเรื่องหรือลืมใครบางคนได้หรือเปล่า

ผศ.พญ.จันทิมา เป็นได้ชั่วครั้งชั่วคราวค่ะ แต่ต้องถามอีกว่า ถ้ายกตัวอย่างว่า เกิดใครกำลังเสียใจอกหัก ต้องการจะลืมชายคนนี้ จึงไปให้นักสะกดจิตสะกดให้ลืม แต่อย่าลืมว่าความเป็นจริงมีชายคนนั้น จะไม่ดีกว่าหรือที่จะลืมคนนั้น โดยไม่ต้องบิดเบือนความเป็นจริง ใช้ได้ค่ะ แต่อย่างที่บอกเราต้องดูเหมือนกันว่าทำเพื่ออะไร จะมีผลดีผลเสียแค่ไหน

พิธีกร ถ้าให้อาจารย์ช่วยตัดสินแทนเขา ควรทำหรือไม่ครับ

ผศ.พญ.จันทิมา ไม่ควรค่ะ สำหรับตัวเองถึงแม้ในช่วงที่ตัวเองสะกดจิต มีมาขอให้ทำอันนี้ก็คงจะคุยกับคนไข้ว่า ทำไมถึงจำเป็นต้องสะกดจิต และช่วยให้เขายอมรับการสูญเสียมากกว่าที่จะไปสะกดจิต แล้วดื้อๆบอกลืมนาย ก.หรือลืมนาย ข.

พิธีกร นี่ก็เป็นศิลปะส่วนหนึ่งที่ผู้รักษาเอง ก็ต้องพยายามที่จะเลือกเอามาใช้ด้วย ไม่ใช่ง่ายๆ ทีเดียวครับ

อินเทอร์เน็ท การสะกดจิตสามารถทำให้ลืมความหลังได้จริงหรือไม่ครับ และมีที่ไหนเปิดให้บริการบ้างครับ ขอบคุณครับ

พิธีกร เรื่องความหลัง ลองอ่านดูในรายละเอียดครับ ตอนนี้ยังไม่ทราบว่ามีเปิดให้บริการที่ไหนบ้างครับ

อินเทอร์เน็ท ดิฉันประสบอุบัติเหตุทางรถยนตร์ ได้รับการบาดเจ็บอย่างหนัก ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานหลายเดือน ตอนนี้ยังต้องทำกายภาพบำบัดอยู่ แต่ยังมีอาการปวดบริเวณสันหลังและขาอย่างมาก ไม่ทราบว่าการสะกดจิตจะสามารถช่วยให้ดิฉันหายปวดได้หรือไม่ และค่ารักษาสามารถเบิกกับบริษัทประกันได้หรือไม่ค่ะ ขอความกรุณาช่วยตอบด้วยนะคะ ขอบพระคุณค่ะ

ผศ.พญ.จันทิมา ในแง่ของการรักษาอาการปวด การสะกดจิตก็เป็นวิธีหนึ่งที่นักสะกดจิตสามารถทำให้อาการปวดทุเลาหรือหายไปได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้ามีสาเหตุทางกายต้องแก้ที่ทางกายค่ะ เพราะถ้าหายปวดแล้ว แต่ไม่ได้ทำกายภาพบำบัด ขาลีบหรือมีปัญหาตามมาจะหนักยิ่งกว่านะคะ

พิธีกร ต้องผสมผสานกันด้วย ถ้าอาจารย์ยังทำสะกดจิต อาจารย์จะเลือกว่ารายนี้ทำได้

ผศ.พญ.จันทิมา ถ้าแน่ใจว่าไม่มีสาเหตุทางกายที่จะต้องแก้ไข คงต้องตกลงกันว่า ถึงคุณไม่ปวดคุณก็ต้องยังรักษาตัวนะ เพราะไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะมีปัญหาค่ะ

พิธีกร ต้องมีการภาพบำบัดเข้ามาช่วยด้วยครับ สะกดจิตเบิกประกันได้หรือไม่ครับ

ผศ.พญ.จันทิมา ตอนนี้ยังไม่ทราบเลยค่ะ จิตบำบัดยังเบิกไม่ได้เลยค่ะ

อินเทอร์เน็ท เคยได้ยินเรื่องการสะกดจิตเพื่อรักษาอาการนอนกรนได้จริงหรือเปล่าครับ และได้ผลกี่ % มีการเปิดรักษาที่ไหนบ้าง (ที่เชียงใหม่ครับ)

ผศ.พญ.จันทิมา นอนกรนไม่แนะนำเด็ดขาด เพราะคนที่นอนกรนจะมีอาการ หยุดหายใจในขณะที่นอนหลับ การกรน คือ การหายใจไม่ดี ลิ้นตกก็เลยทำให้เกิดเสียง ถ้าลิ้นตกมากๆ ก็จะตื่น แต่ถ้าไปสะกดจิตว่าไม่ให้กรน เกิดลิ้นไม่ตกหรือตกมากไปจนขาดออกซิเจน ถ้าจะไม่ดีแน่ค่ะ กรนเป็นสาเหตุจากร่างกายค่ะ เพราะฉะนั้นอย่าใช้วิธีสะกดจิตแก้ค่ะ

พิธีกร ที่เชียงใหม่มีที่ไหนบ้างครับ

ผศ.พญ.จันทิมา ถ้าจะรักษากรนไม่แนะนำนะคะ ลองถามที่คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่น่าจะให้ข้อมูลได้ค่ะ

อินเทอร์เน็ท มีวิธีสะกดจิตเพื่อรักษาโรคความจำเสื่อมไหมครับ

ผศ.พญ.จันทิมา ไม่มีคนใช้นะคะ ปกติเวลาที่เราสะกดจิต เราจะแถมให้อยู่เสมอเลยว่า เวลาที่เราจะถอน เราจะบอกว่า ต่อไปนี้จะรู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียด ความจำดี ความคิดดี เราจะแถมให้เยอะๆนะคะ

พิธีกร แล้วดีจริงหรือไม่ครับอาจารย์

ผศ.พญ.จันทิมา ส่วนมากต้องสะกดกันบ่อยหน่อย แต่ก็จะได้ค่ะ เพราะในภาวะที่เขาสดชื่น คำสั่งของเรายังได้ผล และเรามักจะบอกว่าคราวหน้าจะสะกดได้ลึกกว่านี้และง่ายกว่านี้ แต่คงไม่ดีเท่ากับที่จะพยามฝึกซ้อมใช้ความคิด เพราะถ้าคนเราความจำไม่ดี ต้องพยามใช้สมองให้มากที่สุดค่ะ

พิธีกร วันนี้เราได้ความรู้มากมายจากวิทยากรรับเชิญของเราในวันนี้ โอกาสหน้าเราจะมาคุยกันในรายละเอียดว่าจะทำอย่างไร และได้ประโยชน์อะไรบ้าง ต้องกราบขอบพระคุณวิทยากรรับเชิญ ที่ได้ให้เกียรติแก่รายการของเราในวันนี้ กราบขอบพระคุณครับ


ต้นฉบับดั้งเดิม: http://www.thaimental.com/editor_htdocs/ulife_detail.asp?number=310

แต่เว็บหายไปแล้ว จึงดึงเนื้อหามาจาก: https://web.archive.org/web/20070106120122/http://www.thaimental.com/editor_htdocs/ulife_detail.asp?number=310

ลิขสิทธิ์เป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์เดิม หากเจ้าของลิขสิทธิ์ต้องการให้เอาหน้านี้ออก กรุณาแจ้งเจ้าของบล็อก

14 มกราคม 2558

ทฤษฎี X และทฤษฎี Y ของแมคเกรเกอร์

แมคเกรเกอร์ ได้ชี้ให้เห็นถึงแบบของการบริหาร 2 แบบ คือ ทฤษฎี X ซึ่งมีลักษณะเป็นเผด็จการ และ ทฤษฎี Y หรือการมีส่วนร่วม แต่ละแบบเกี่ยวข้องกับสมมุติฐานที่มีต่อลักษณะของมนุษย์ดังนี้

19 ธันวาคม 2557

เขียน “เรื่องสั้น” ด้วยวิธีง่ายๆ กับชมัยพร แสงกระจ่าง

โดย ชมัยภร แสงกระจ่าง อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

short-story“เรื่องที่จะอามาเขียนต้องประทับใจสุดๆ มีแรงปรารถนามากที่สุด ถามตัวเองว่าตั้งแต่มีชีวิตมา อ่านชีวิตรอบๆ ตัว ทำข่าวที่หาข้อมูลมาทั้งหมด มีเรื่องอะไรกระทบใจสุด อยากเขียนมากที่สุด อะไรที่ร้ายแรง เศร้าที่สุดในชีวิตเรา ความตายครั้งแรกทีเรารู้จัก ของเหล่านี้กระตุ้นเรา เป็นกุญแจสำคัญที่จะไข ชีวิตเรา” คำกล่าวของ ชมัยภร แสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กำลังจุดประกายต่อมความอยากเขียนของคนข่าวขึ้นมา

3 กันยายน 2556

เมนูไหนไม่อ้วน? ตารางปริมาณแคลอรี 99 เมนูอาหารไทย

เวลาลดความอ้วน การเลือกเมนูอาหารบางทียากเพราะกะปริมาณแคลอรีไม่ถูก อันที่เรานึกว่าน้อยบางทีเยอะก็มี กระทรวงสาธารณสุขทำข้อมูลนี้ไว้ เป็นอาหารไทยชนิดต่างๆ ที่ 100 กรัม (เฉพาะส่วนที่กินได้) ผมเอาเฉพาะส่วนที่เป็นอาหารจานเดียว มาเรียงตามปริมาณแคลอรีจากน้อยไปหามาก จะทำให้พอนึกภาพเปรียบเทียบกันได้บ้างเวลาเลือกเมนู ว่าอะไรปลอดภัยต่อน้ำหนักตัวกว่ากัน

ตามตารางที่น่าสนใจสุดๆ คงเป็น แกงส้ม, ซุบหน่อไม้, ส้มตำ, แกงไตปลา ทั้งหมดนี้น้อยกว่า 50 แคลอรีต่อ 100 กรัม

ที่มา: ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย

อาหาร แคลอรี
แกงส้มผักรวมกับปลา, ภาคกลาง  24
ซุบหน่อไม้, อีสาน  25
แกงหน่อไม้, ภาคอิสาน  26
ส้มตำ, อีสาน  28
แกงส้มผักรวม, อาหารเจ  33
แกงไตปลา  34
ซุบกะทิหน่อไม้  35
แกงน้ำเคย (แกงเคยปลา)  39
แกงบอน  39
ซุบมะเขือ, ภาคอิสาน (ยำมะเขือเปราะ)  40
ซุบหน่อไม้, กรุงเทพ  41
ส้มตำปลาร้า รวมผักสด  42
แกงหอยขม, ภาคอิสาน  44
แกงเหลืองใส่ปลา  44
แกงขนุนอ่อน  49
แกงอ่อมมะระใส่เห็ด, อาหารเจ  49
แกงเผือก (ใส่ปลา)  50
แกงส้มผักรวมกับปลา, ภาคใต้  50
ยำบูดู  50
เส้นหมี่, ลูกชิ้นเนื้อวัวน้ำ  51
แกงอ่อมปลา  53
แกงอ่อมเนื้อ  55
แกงผักกาดจอ, ภาคเหนือ  56
ซุบมะเขือยาว, ภาคอิสาน  59
ขนมจีนน้ำยาป่า, รวมผักสด  65
ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่, เย็นตาโฟ, น้ำ  72
เต้าเจียวหลน, รวมผักลวก  72
แกงพริกปลาตัวเล็ก  74
ยำก๋วยเตี๋ยวเซียงไฮ้, อาหารเจ  80
ขนมจีนน้ำยา, รวมผักสดและผักกาดดอง  81
กระเพราะปลา, ปรุงสำเร็จ  83
น้ำพริกปลาร้า, รวมผักลวก  83
ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่, ราดหน้ากุ้ง  84
ขนมจีนน้ำเงี้ยว, ผักรวม  84
ขนมจีนน้ำยาปักษ์ใต้, รวมผักสด  85
ส้มตำปู-กุ้ง  85
ขนมจีนน้ำนัวปลาร้ารวมผักลวก  87
ขนมจีนน้ำละชอ, ภาคใต้  91
แกงเขียวหวานหมู  93
ลาบเลือด, อิสาน  99
ยำสาหร่ายผมนาง  102
ก้อยอีสาน  105
แกงกล้วยกับไก่  105
ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่, ราดหน้าไก่  109
ขนมจีนน้ำยา ปักษ์ใต้, รวมผัก  109
ตำมะเขือพวง, ภาคอิสาน  109
ก๋วยเตี๋ยวเนื้อสับ  112
ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่, ราดหน้าหมู  113
แกงไก่ใส่หยวกกล้วย, ภาคใต้  117
นาชิตีเน๊ะ (ข้าวอัดเป็นแท่งราดด้วยปลานึ่งและมะพร้าวคั่ว)  119
ลาบเนื้อ, อิสาน, รวมผักสด  119
ขนมจีนซาวน้ำ, ภาคกลาง  120
แกงขี้เหล็ก  122
ห่อหมกปลาช่อนใบยอ  126
แกงหอยขม, ภาคกลาง  130
ก๋วยเตี๋ยวแขก (ก๋วยเตี๋ยวแกง)  131
หมี่เหลืองผัดซีอิ้ว, อาหารเจ  131
ขนมจีนน้ำพริก, รวมผัก  152
ข้าวขาหมู  152
ผัดวุ้นเส้น(ผัดโฮ๊ะ), อาหารเจ  152
ข้าวแกงเขียวหวาน, ไก่  154
ข้าวซอยไก่  154
ผัดคั่วกลิ้งเนื้อวัว, ภาคใต้  154
ข้าวหมกไก่  158
นาชิมีเยาะ (ข้าวเจ้าหุงกับกะทิ ราดแกงตุมิ, แกงปลา)  163
ข้าวยำปักษ์ไต้  164
นาชิดาแฆ (ข้าวเจ้า + ข้าวเหนียว หุงกับกะทิ ราดแกงปลา) ภาคใต้  164
เส้นหมี่ผัดซีอิ้ว  164
ข้าวยำ (ข้าวสีม่วง)  169
ข้าวหมูแดง  169
หมี่กะทิ  173
ข้าวผัดหมู, ใส่ไข่  178
ลาบคั่วหมู, ภาคเหนือ  182
หมี่กรอบ, อาหารเจ  182
เย็นตาโฟ, อาหารเจ  188
ข้าวราดหน้าไก่ผัดใบกระเพรา  191
ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่, ผัดซีอิ้วใส่ไข่  195
ขนมผักกาด, ใส่ไข่  196
แกงหมูชะมวง  197
เกี๊ยนทอด, อาหารเจ  197
ข้าวมันไก่  199
ผัดหมี่ไทย, ภาคใต้  208
ข้าวคลุกกะปิ  209
น้ำพริกอ่อง  212
นาชิดาแฆ (ข้าวเจ้า + ข้าวเหนียว หุงกับกะทิ ราดแกงกุ้ง) ภาคใต้  213
หอยแมลงภู่ทอดใส่ไข่  219
แกงฮังเล  221
ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก, หมู, ตับ, แห้ง  227
ห่อหมกไข่ปลา, ภาคอิสาน  230
ข้าวเหนียวชุบไข่ปิ้ง  231
ไก่กอและ  233
ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย, ใส่ไข่  239
ก๋วยเตี๋ยวผัดปู, รวมถั่วงอกดิบ  243
ทอดมันถั่วเขียว, อาหารเจ  248
แกงมัสมั่นเนื้อ  252
ไส้กรอก, อีสาน, สุก  398
ไส้อั่ว  420
หมี่กรอบ  505

8 สิงหาคม 2556

Thai Caps Lock ซอฟต์แวร์คีย์บอร์ด Windows สวิตช์ภาษาด้วยปุ่ม Caps Lock

บน Windows ถ้าคุณไม่ชอบสวิตช์ภาษาด้วยปุ่ม ` หรือ Alt-Shift ติดตั้ง Thai Caps Lock แล้วสวิตช์ภาษาด้วยปุ่ม Caps Lock แทน (เหมือน Mac) เหมาะสำหรับคนที่ใช้ Mac สลับกับ Windows หรือ Linux admin ที่ใช้ Windows หรือคนที่ต้องการคีย์สัญลักษณ์ที่ปกติคีย์ไม่ได้ เช่นในงามพิมพ์หรืองานวิชาการ

  1. สลับภาษาด้วยปุ่ม Caps Lock ปุ่มที่กดง่ายที่สุด
  2. คีย์เครื่องหมายเช่น , - โดยไม่ต้องสลับภาษาไปมา
  3. คีย์เครื่องหมายที่ปกติใช้ยากเช่น • ◦ “​ ” – — © ™ € £ ¥ × ÷ ² ½

ขนาด 242 KB สำหรับ Windows 2000 ขึ้นไป ทั้ง 32/64 บิต
ฟรีแวร์ เวอร์ชันเบต้า 0.92 เผยแพร่ด้วย MIT License

พบปัญหา มีคำถามหรือคำแนะนำกรุณาแจ้งในช่องแสดงความคิดเห็นข้างล่าง



การติดตั้ง

  1. รันโปรแกรมติดตั้งไปจนจบ
  2. คลิกขวาที่ตัวแสดงภาษาคีย์บอร์ดด้านล่างของจอ เลือก Settings
  3. ในรายการคีย์บอร์ดของภาษาไทย จะเห็นคีย์บอร์ดสองอัน คือ Thai Kedmanee กับ Thai Caps Lock
  4. คลิกที่ Thai Kedmanee แล้วกดปุ่ม Remove
  5. คลิกที่ปุ่มรายการใต้ Default input language แล้วเลือก Thai Caps Lock ให้เป็นดีฟอลต์ตามรูป
  6. กด OK

เสร็จแล้วเมื่อสวิตช์คีย์บอร์ด (ด้วยปุ่ม ` หรือ Alt+Shift) เป็น TH คุณก็จะสามารถ

สลับภาษาไทยอังกฤษ ด้วยปุ่ม Caps Lock

  • Caps Lock ปิด – ภาษาไทย
  • Caps Lock เปิด – ภาษาอังกฤษ
(1) สลับภาษาง่าย (2) สามารถดูไฟ Caps Lock เพื่อรู้สถานะของภาษาคีย์บอร์ด (3) สามารถคีย์ตัว ` ได้

คีย์เครื่องหมายสัญลักษณ์ต่างๆ ด้วยปุ่ม Alt โดยไม่ขึ้นกับภาษาคีย์บอร์ดปัจจุบัน

สัญลักษณ์เดิมๆ (เช่น , . / ? ' - ) สามารถคีย์โดยใช้ Alt ขวา (และ Alt ขวา + Shift) ในตำแหน่งเดิม โดยไม่ต้องสลับภาษาไปมา

สามารถ 'คีย์' (บรรทัดนี้...) ได้โดย, ไม่ต้องสลับภาษา "ไป-มา"!

คีย์สัญลักษณ์ที่ปรกติคีย์ไม่ได้ ในตำแหน่งคีย์ที่จำง่าย

คีย์สัญลักษณ์สำหรับงานพิมพ์และงานวิชาการที่มีในฟอนต์ไทยของไมโครซอฟท์ทุกตัว แต่ปกติคีย์ไม่ได้ ไม่ต้องใช้ Alt+รหัส หรือโปรแกรม Character Map ใส่ “เครื่องหมายคำพูดเปิดปิด” หรือ bullet • ◦ และ dash – — หรือสูตรแบบ 2×5² ในข้อความของคุณได้บ่อยๆ อย่างง่ายดาย ด้วยปุ่ม Alt ขวา กับคีย์ปกติอีก 1 คีย์ ตามตาราง (บางส่วน) และรูปข้างล่าง

คีย์
Alt ขวา
Alt ขวา Shift
B Bullet
C Copyright / Cent
©
¢
D Dash
E Ellipsis

M dash / space
em space
N dash / space
en space
O (= ฯ)
ฯลฯ
P Pound / Pi
£
Q Quote

W (= ")

R
®

S Space
en space
em space
T Trademark
thin space
U Euro
µ
X
× (multiply)
÷
Y Yen
¥

[

]

\
<wj>
<zwsp>
1

¹
2

²
3

³
4

¼
5

½
6

¾

สัญลักษณ์ทั้งหมดเมื่อกด Alt ขวา

ตัวสีดำคือที่จะได้เมื่อกดปุ่มสีฟ้าและ Alt ขวา ตัวสีเทาคือเมื่อกด Alt ขวา + Shift

 ข้อติดขัดและทางแก้

  1. สถานะภาษา
    ตัวแสดงภาษา (TH/EN) ใน task bar จะคงแสดงเป็น TH ตลอด ไม่เปลี่ยนเวลากด Caps Lock การดูว่ากำลังคีย์ภาษาอะไรให้ดูที่ไฟ Caps Lock
  2. ความเคยชิน
    ช่วงแรกอาจจะเผลอสวิตช์ภาษาด้วยปุ่มเดิมเป็น EN แล้วจะสวิตช์เป็นไทยด้วย Caps Lock ไม่ได้ ให้สวิตช์กลับเป็น TH ก่อน อาจต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนความเคยชินที่จะสวิตช์ภาษาด้วยปุ่ม Caps Lock แทน และหากใช้แต่ Thai Caps Lock แล้วไม่มีปัญหาอะไร ก็อาจจะลบคีย์บอร์ดภาษาอังกฤษได้ (ตัวแสดงภาษาก็จะหายไปด้วย)
  3. จะคีย์ตัวพิมพ์ใหญ่อังกฤษยาวๆ
    ตัวพิมพ์ใหญ่ภาษาอังกฤษจะพิมพ์ได้โดยการกดปุ่ม Shift ค้างไว้ ถ้าต้องการคีย์ตัวพิมพ์ใหญ่ภาษาอังกฤษยาวๆ จะต้องกดปุ่ม Shift ค้างไว้นาน วิธีที่สะดวกกว่าคือสวิตช์กลับเป็น EN ด้วยปุ่มสวิตช์เดิม (` หรือ Alt+Shift) แล้วจะใช้ปุ่ม Caps Lock คีย์ตัวพิมพ์ใหญ่ เสร็จแล้วก็สวิตช์กลับ
  4. พาสเวิร์ด
    เวลาคีย์พาสเวิร์ดต้องระวังให้ภาษาคีย์บอร์ดเป็นอังกฤษ บางที่เช่นพาสเวิร์ดของ Windows จะมีการเตือนว่าปุ่ม Caps Lock ติดอยู่ ซึ่งเมื่อใช้ Thai Caps Lock แสดงว่าคีย์บอร์ดเป็นอังกฤษถูกต้องแล้ว แต่ถ้าไม่เตือนแปลว่าเป็นภาษาไทยอยู่
  5. โปรแกรมที่ใช้ไม่ได้
    โปรแกรมโอเพนซอร์สที่ใช้ไลบารี GTK เช่น GIMP และ Inkscape จะคีย์ไทยได้ปกติ แต่เมื่อกด Caps Lock จะได้ภาษาไทยเหมือนเดิม ไม่ได้ภาษาอังกฤษ ทำให้ต้องสวิตช์ภาษาด้วยวิธีเดิม
  6. พบปัญหา
    กรุณารายงานปัญหาอื่นที่พบในช่องความคิดเห็นด้านล่าง

การถอนการติดตั้ง

  1. เปลี่ยนให้คีย์บอร์ดภาษาอังกฤษเป็นดีฟอลต์ โดยคลิกขวาที่ตัวแสดงภาษาคีย์บอร์ด แล้วเลือก Settings
  2. คลิกที่ปุ่มรายการใต้ Default input language แล้วเลือก English ให้เป็นดีฟอลต์
  3. แล้วเพิ่มคีย์บอร์ดภาษาไทยเดิมกลับเข้ามา โดยกดปุ่ม Add แล้วคลิกที่ Thai (Thailand) จะเห็นคีย์บอร์ดภาษาไทยทั้งหมด
  4. คลิกเลือก Thai Kedmanee ตัวเดิมที่ remove ไปตอนติดตั้ง Thai Caps Lock
  5. กด OK
  6. ถอนการติดตั้ง Thai Caps Lock โดยไปที่ Control Panel เลือก Programs and Features
  7. ในรายการซอฟต์แวร์ คลิกที่ชื่อ Thai Caps Lock กดปุ่ม Uninstall แล้วรันโปรแกรมถอนการติดตั้งไปจนจบ

26 กรกฎาคม 2555

ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง (ไหม?)


กลับมาอ่านบทความของคุณศิรส เลยถือโอกาสสรุปความเห็นฟันธงสักหน่อย

คนรุ่นใหม่ไม่สนใจภาษาอังกฤษ

คน Generation X อย่างผมจะโตมากับวัฒนธรรมอเมริกัน ดูหนังฟังเพลงฝรั่ง ทีวีขาวดำนะ แต่ดูซีรีส์ฝรั่งพากย์ไทยอย่าง MacGyver, Charlie's Angels, Incredible Hulk, Knight Rider, The Dukes of Hazzard, Chips, The six million dollars man ฯลฯ ครั้งหนึ่งมีคนเอามินิซีรีส์มาฉายติดกันงอมแงมทั่วบ้านทั่วเมืองแบบเดียวกับแดจังกึม เรื่องนั้นชื่อ Roots เกี่ยวกับสามเจเนอเรชันของทาสในอเมริกา ลองนึกภาพแม่ป้านาอาของผมเฝ้าหน้าจอดูหนังเรื่องนี้ทุกคืน ทุกคนเจอกันก็คุยกันว่าเมื่อคืนทาสพวกนั้นถูกทรมาณอย่างไร คนรุ่นนั้นเป็นรุ่น Baby-boomers ซึ่งผ่านชีวิตในช่วงสงครามโลกมา ถ้าอยู่ในกรุงเทพต้องเคยหลบระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร ส่วนใหญ่จะได้เรียนหนังสือน้อย พวกเขาเห็นฝรั่งเป็นเทวดา และรู้สึกว่าการรู้ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งวิเศษ พวกเขาคาดหวังว่าลูกหลานโตไปจะใช้ภาษาอังกฤษได้ และ Gen X ก็คือผลผลิตของคนรุ่นนี้

ตอนเด็กๆ ผมรู้สึกว่าเมื่อผมอายุมากขึ้น ผมต้องใช้ภาษาอังกฤษได้ มันมาจากสิ่งแวดล้อมทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เหมือนไม่ใช่เรื่องที่ต้องสงสัย ผมว่าคนรุ่นผมจำนวนมากคิดแบบเดียวกัน บางคนโตแล้วอาจไม่ค่อยได้ใช้ภาษาอังกฤษแต่จะรู้สึกเหมือนขาดอะไรไปบางอย่าง เหมือนมีงานที่ยังทำไม่เสร็จ ผมเองเรียนหนังสือในเมืองไทยตลอด ไม่เคยได้ใช้ชีวิตในต่างประเทศนานๆ หลายปีก่อนผมมีโอกาสไปบรรยายในงานสัมมนาที่ฮังการี ในช่วงที่ฟังผู้บรรยายคนอื่นจากทั่วโลกพบว่าตัวเองฟังได้รู้เรื่องไม่เต็มร้อย รู้สึกตำหนิตัวเองขึ้นมาว่า อายุ 40 แล้วยังฟังฝรั่งพูดไม่รู้เรื่อง เลยได้รู้ว่าตัวเองมีค่านิยมที่ติดมากับยุคสมัยว่า "ผู้ใหญ่ต้องใช้ภาษาอังกฤษได้"

หลังจากนั้นผมเลยติด TED Talks เรื่อยไปจนถึง Talks at Google นอกจากจะได้ฟังบรรยายภาษาอังกฤษเรื่อยๆ แล้ว เนื้อหาพวกนั้นก็สุดยอดจริงๆ ทำให้อยากรู้เรื่องและอยากฟังจนจบ ความจริงภาษาอังกฤษผมไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่ เพราะใช้อ่านหนังสือทางไอทีเท่านั้นจึงรู้ศัพท์ในชีวิตประจำวันน้อยมาก ถ้าดูหนังไม่เปิดซับไตเติ้ลจะดูไม่รู้เรื่องแล้ว ตอนนี้เลยต้องเริ่มหยิบวรรณกรรมมาอ่านเพื่อเพิ่มศัพท์ในหัว วันหนึ่งเวลาดูหนังจะได้ปิดซับไตเติ้ล ที่เปิดไว้แล้วจะไม่เห็นการแสดงทางสีหน้าของนักแสดงเลย

ผมทบทวนตัวเองแล้วจึงเข้าใจปัญหาของคน Generation Y และ Z ด้วยแบคกราวน์ชีวิตที่ต่างไปทำให้มีค่านิยมที่ต่างกัน ผมฟันธงว่าสาเหตุที่คนรุ่นนี้ใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้คือความรู้สึกอันเป็นค่านิยมว่า
ภาษาอังกฤษมีประโยชน์ ถ้ารู้ได้ก็ดี แต่ไม่ได้จำเป็น
ผมว่ามันต่างกับความรู้สึกของคนรุ่นก่อนที่รู้สึกว่า คนมีการศึกษาต้องใช้ภาษาอังกฤษได้ แน่นอนไม่ใช่ความผิดใคร เพราะสังคมไทยยุคหลังก็ไม่ได้เป็นเมืองขึ้นอเมริกันเหมือนแต่ก่อน เดี๋ยวนี้เพลงไทยหนังไทยทำดี เดี๋ยวนี้คนฟังเพลงไทยดูหนังไทยกันเป็นเรื่องปกติ ยิ่งกว่านั้นเรามองวัฒนธรรมอื่นสวยงามขึ้น ญี่ปุ่น เกาหลี กลายเป็นนิยามของแฟชัน ความใหม่ล่าสุด อยู่ที่เกาหลีไม่ใช่ที่อเมริกา ผมว่าคนที่จะมาแก้ปัญหาความไม่รู้ภาษาอังกฤษของคนไทยต้องเข้าใจพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป ต้องเข้าใจว่าเขาไม่เก่งภาษาอังกฤษไม่ใช่เพราะเขาโง่หรือขี้เกียจ แต่เพราะเดี๋ยวนี้มันไม่จำเป็น มันไม่คูล ไม่เท่ ไม่แนว มันเป็นส่วนหนึ่งของวิชาการ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชีวิต

คนรุ่นใหม่จะเรียนภาษาอังกฤษอย่างไร

แต่แน่นอนมีคนรุ่นใหม่ที่ใจก็สนใจภาษาอังกฤษ แต่พยายามแล้วก็ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ต่างจากการลดความอ้วนนั่นแหละ แต่บางคนอ้วนมากก็ยังลดความอ้วนสำเร็จ เขาทำได้ไง? สมมุติเราตัดคนที่ไม่อยากรู้ภาษาอังกฤษจริงๆ ออกไป ทำอย่างไรคนที่อยากรู้จะไปให้ถึงฝั่ง มันยากและใช้แรงมากเท่าความพยายามลดความอ้วนทีเดียว และผมว่าเขาต้องเริ่มจากการเปลี่ยนค่านิยมให้ได้ก่อน วิธีการไม่สำคัญ

ที่ผมเล่าเรื่องความรู้สึกต่อภาษาอังกฤษข้างบนนั้น ผมว่าคนรุ่นนี้จะนึกภาพไม่ออก ความรู้สึกว่า "คนมีการศึกษาต้องใช้ภาษาอังกฤษได้" หากยังใช้ไม่ได้เหมือนยังมีงานต้องทำอยู่ ผมว่าเบื้องต้นเขาต้องรู้สึกอย่างนี้ให้ได้ก่อน ถ้ายังรู้สึกว่า "รู้ก็ดี ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร" ก็เหมือนคนที่รู้สึกว่าอ้วนก็ได้ ไม่คอขาดบาดตาย พยายามยังไงก็จะลดน้ำหนักไม่ได้ ดังนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความพยายาม แต่อยู่ที่ค่านิยม ปกติค่านิยมเราถูกปั้มขึ้นมาจากสังคมรอบตัว แต่บ่อยครั้งเราก็ปลูกฝังค่านิยมให้ตัวเองได้ คนที่ทำไม่ได้ป่านนี้คงดมกาวอยู่ใต้สะพานลอย คงไม่ได้อ่านโพสต์นี้อยู่แน่

อีกอย่าง เขาต้องประเมินตัวเองอย่างบริสุทธิ์ใจว่าภาษาอังกฤษของเขาได้เรื่องแค่ไหน ผมไม่เคยเจอคนรุ่นนี้บอกว่าภาษาอังกฤษตัวเองไม่ได้เรื่องเลยสักคน ส่วนใหญ่บอกว่าพออ่านได้ ดูหนังซาวน์แทรค ฟังเพลงฝรั่ง บางคนบอกเจอฝรั่งก็คุยได้บอกทางได้ ก็ดี แต่ที่ว่าใช้ภาษาอังกฤษได้ไม่ได้หมายถึงทักษะระดับนี้ แต่หมายถึงอย่างสมมุติคุณจะเรียนรู้อะไรสักอย่าง มีหนังสือภาษาไทยกับภาษาอังกฤษให้เลือก แล้วคุณเลือกด้วยคุณภาพของหนังสือ ไม่ได้เลือกเพราะภาษา หรือมากกว่านั้น คุณสามารถบรรยายหรือสอนเป็นภาษาอังกฤษแล้วตอบคำถามผู้ฟังได้ หมายความว่าภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่อุปสรรค ถ้าภาษาอังกฤษยังเป็นอุปสรรค แปลว่าคุณยังมีงานต้องทำอยู่

ไม่รู้ว่ามันจริงหรือเปล่านะที่ว่าคนมีการศึกษาต้องใช้ภาษาอังกฤษได้ มันไม่สำคัญด้วยซ้ำไปว่ามันจริงหรือเปล่า แต่ถ้าคุณจะใช้ภาษาอังกฤษให้ได้ คุณก็ต้องเริ่มจากค่านิยมนี้ เสร็จแล้วจะต้องทำอะไรบ้าง คุณก็รู้ด้วยตัวคุณเองอยู่หรอก


ข้อเขียนเรื่องนี้ของคนอื่น



21 มิถุนายน 2555

ฟังจริงๆ อย่างไร

ทุกคนที่หูได้ยินจะฟังเป็นมาตั้งแต่เด็ก สังเกตดูเด็กฟังคนเล่านิทานสามารถอินไปกับมันได้เหมือนพวกเราดูหนัง แต่โรงเรียนทำให้เราฟังแย่ลงเรื่อยๆ เมื่อเราต้องฟังสิ่งที่เราไม่อยากฟัง ฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจก็ถามไม่ได้อีก เพราะจะทำให้ดูโง่ ผู้ใหญ่หลายคนจึงโตขึ้นมาพร้อมกับปัญหา ได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง หรือแย่กว่าคือ ฟังแต่ไม่ได้ยิน พร้อมทักษะที่สร้างปัญหาทั้งในความสัมพันธ์ ชีวิตส่วนตัว และในที่ทำงาน คือการ ฟังปลอม (pseudolistening)

ปัญหาในการฟัง

ฟังปลอมคือการได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง แต่พยายามแสดงออกว่ากำลังสนใจฟังอยู่ เช่น เออออพนักหน้า ส่งเสียงอือ อืม ดี โอเค เป็นต้น มันเป็นทักษะที่สิ้นหวังเพราะว่าคนพูดอย่างไรก็ต้องรู้ว่าคนฟังกำลังฟังปลอมอยู่ แล้วมันก็จะสร้างความหงุดหงิดให้กับคนพูดอย่างมาก เมื่อคนฟังโต้ตอบมาอย่างผิดคิว เช่นเวลาคนพูดถามคำถาม คนฟังปลอมจะไม่รู้ว่าเป็นคำถาม (แม้ว่าจะได้ยินคำพูดอยู่) เพราะว่าใจไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้ว แล้วมันก็จะเกิดความเงียบที่น่าอึดอัดขึ้น บางทีคนฟังอาจจะเดาได้ว่ามันคือคำถาม และพยายามตอบอะไรบางอย่างออกไปเพื่อให้พ้นจากสถานการณ์นั้น แต่คำตอบอาจทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีก

อีกตัวอย่างหนึ่งที่สร้างความเครียดให้คนพูดได้มาก คือการผิดคิวทางอารมณ์ เช่นคนพูดกำลังพูดเรื่องที่ซีเรียสสำหรับตัวเขาหรือองค์กรเป็นอย่างมาก แต่คนที่ฟังปลอมจะไม่ตอบสนองต่อความรู้สึกของคนพูดเลย เพราะไม่ได้ฟังอยู่ หรือหากคนพูดกำลังพูดเรื่องที่โศกเศร้าหรือปล่อยมุขตลกออกไป สถานการณ์ก็จะแย่ลงทันที และสิ่งที่คนที่ฟังปลอมทำบ่อยที่สุด คือเมื่อคนพูดเว้นวรรคแล้วคนฟังกลับเปลี่ยนเรื่องพูดไปเป็นเรื่องอื่น เป็นสิ่งที่เราน่าจะต้องเคยโดนกันทุกคน

สาเหตุของปัญหาในการฟัง

  1. คนฟังไม่มีสมาธิ เพราะไม่สนใจ หรือมีเรื่องอื่นที่กำลังครุ่นคิดอยู่ในใจ
  2. คนฟังกำลังรอจังหวะที่ตัวเองจะพูดหรือเถียงต่อไป
  3. ความเชื่อว่าการฟังเป็นธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องลงทุนลงแรงทำอะไรเป็นพิเศษ
  4. ความเชื่อว่าเราสามารถเข้าใจความคิดผู้อื่นได้ โอกาสที่จะเข้าใจผิดมีน้อย
  5. การขาดทักษะในการฟังจริงๆ
เราจะเป็นผู้ฟังที่ดี เมื่อเราสนใจเรื่องที่เขาพูด เปิดใจรับฟังก่อนในยามที่กำลังเป็นผู้ฟังไม่ใช่ผู้พูด เรารู้ว่าเราต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษ เพื่อที่จะเข้าใจความคิดผู้อื่น เพราะเรากลัวที่จะเข้าใจผิด เราจึงใช้เครื่องมือในการโต้ตอบที่เหมาะสมตลอดเวลาที่เป็นผู้ฟัง

วัตถุประสงค์ในการฟัง

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ในทุกโอกาส เราฟังเพื่อรับข้อมูล 2 อย่าง
  1. เนื้อหา
  2. อารมณ์ (หรือน้ำหนัก) ของเนื้อหา
การฟังแต่ไม่ได้ยินหรือฟังปลอมเป็นการฟังโดยไม่ได้เนื้อหา หรือได้ไม่เต็มร้อย แต่หากเราฟังแล้วได้แต่เนื้อหา (content-only response) เราจะขาดข้อมูลสำคัญไปส่วนหนึ่ง แม้ในการสนทนาทางเทคนิค น้ำเสียงและสีหน้าเมื่อคนพูดเล่าอะไรสักอย่าง อาจจะหมายความว่าเขาแนะนำให้ทำแบบนั้น หรือเขาอาจกำลังประชดว่านี่เป็นวิธีที่ผิด แต่หากเป็นการสนทนาในชีวิตส่วนตัว อารมณ์ของเนื้อหา อาจจะมีความหมายกว่าตัวเนื้อหาเสียด้วยซ้ำ บ่อยครั้งที่ความสัมพันธ์เกิดปัญหา ทั้งที่เราจะเข้าใจว่าคนพูดต้องการให้ทำอะไร แต่ไม่เข้าใจว่าเขาอยากให้ทำมันแค่ไหน หรือทำไม

เป็นประเด็นที่หลายคนไม่เข้าใจ การฟังแล้วรับรู้อารมณ์ของเนื้อหาด้วยเป็นอย่างไร? เหมือนเด็กที่กำลังฟังนิทาน ลองนึกถึงเวลาที่เราดูหนังแล้วรู้สึกดีใจเสียใจหรือเจ็บไปพร้อมกับตัวละครเอก เวลาฟังจริงๆ เราจะรู้สึกได้ถึงสิ่งที่คนพูดรู้สึกขณะพูดประโยคเหล่านั้นออกมา เมื่อเราเข้าใจว่าเวลาฟัง ต้องให้ได้ทั้งเนื้อหา และอารมณ์ เป็นวัตถุประสงค์ เป็นเป้าหมายที่จะต้องได้รับในการฟังแต่ละครั้ง การฟังก็จะได้ผลมากขึ้น สร้างปัญหาน้อยลง รวมทั้งเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจมากขึ้นด้วย

การโต้ตอบ

การฟังจริงๆ ก็คือการตั้งใจฟังแบบเปิดรับทุกอย่าง ไม่ใช่รอว่าจะมีจังหวะพูดเมื่อไหร่ ไม่ใช่ฟังว่าจะมีประเด็นไหนให้เถียง แต่การตั้งใจฟังนิ่งๆ ก็แย่ไม่น้อยไปกว่าการฟังปลอม ลองนึกดูเวลาเราเล่าเรื่องให้คนฟังที่ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ เลย ไม่นานเราก็จะต้องหยุดพูดไปเองอย่างหัวเสีย สถานการณ์แบบนี้จะเกิดได้ง่ายมากเวลาคุยโทรศัพท์ หรือการประชุมทางไกลโดยไม่เห็นหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้ง่าย

ดังนั้นการฟังจริงๆ จึงต้องฟังอย่างแอคทีฟเสมอ คือคนฟังจะต้องไม่ฟังอยู่เฉยๆ แต่ต้องมีการโต้ตอบด้วยเครื่องมือเหล่านี้ในจังหวะที่เหมาะสม

รับรู้

เช่นพยักหน้าเวลาเห็นด้วย ส่ายหน้าเพื่อตอบปฏิเสธ ส่งเสียงอือ อืม หึ หรือพูดว่า ใช่ ไม่ เหรอ จริงอะ ดี แล้วไง โอเค หรือการแสดงสีหน้าท่าทางที่เหมาะสมกับจังหวะ

ทวนคำพูด

ในกรณีที่เป็นข้อมูลสำคัญที่ผิดพลาดไม่ได้ การทวนคำพูดเป็นวิธีที่ทำให้คนฟังจำได้มากขึ้นด้วย ทำให้คนพูดรู้ว่าคนฟังได้ยินถูกต้องด้วย และหากมีความผิดพลาดคนพูดก็จะแก้ไขได้ทันที เช่น คนพูด: "เสร็จงานแล้วไปเจอกันที่ธรรมศาสตร์รังสิต" คนฟัง: "ธรรมศาสตร์รังสิตนะ"

คอนเฟิร์มความรู้สึก

เมื่อคนพูดได้พูดในสิ่งที่เต็มไปด้วยความรู้สึก ซึ่งเราจะรู้สึกได้ในใจเราขณะนั้น เป็นเรื่องดีที่คนฟังจะแสดงออกเพื่อยืนยันความรู้สึกนั้นออกมา เพราะจะทำให้คนพูดรู้สึกดีมากที่คนฟังเข้าใจความรู้สึกของเขา ในทางตรงข้าม มีโอกาสที่คนฟังจะเข้าใจอารมณ์คนพูดผิดไปเป็นอย่างอื่น หรือผิดไปชนิดตรงข้ามเลยก็ได้ ดังนั้นแบบเดียวกับการทวนคำพูด คนฟังควรจะคอนเฟิร์มความรู้สึกออกไปเพื่อให้มั่นใจว่าเข้าใจตรงกัน เช่น " แย่เลยซิ", "เป็นใครก็ต้องโกรธนะ"

สรุปความเข้าใจ

เมื่อฟังแล้วทำความเข้าใจเนื้อหาแล้ว จะรู้ได้ไงว่าที่เราเข้าใจนั้นตรงกับที่คนพูดต้องการจะสื่อ? เครื่องมือที่ดีที่สุดคือการสรุปความเข้าใจด้วยคำพูดของเราเองออกไป การโต้ตอบแบบนี้ทำให้คนพูดรู้ได้ทันทีว่าคนฟังเข้าใจจริงๆ หรือหากเข้าใจผิดตรงไหน คนพูดก็สามารถแก้ไขได้ทันที เช่น คนพูด: "ไปติดตั้งเครื่องอย่าลืมเอาของขวัญปีใหม่ไปให้ผู้จัดการของเขา ที่ชื่อคุณสมเกียรติ์ด้วยนะ เขาเป็นลูกค้าเรามาหลายปี" คนฟัง: "ครับ วันนั้นผมจะเตรียมของขวัญไปให้คุณสมเกียรติ์ด้วย"

ถามไปข้างหน้า

เวลาฟังแล้วสงสัย คนฟังสามารถถามคำถามเพื่อให้คนพูดอธิบายให้กระจ่างขึ้นได้ และการโต้ตอบที่ดีที่สุดคือการถามไปข้างหน้า เมื่อเราทำความเข้าใจประเด็นของผู้พูดดีแล้ว และเกิดความสงสัยที่ต่อเนื่องจากความเข้าใจนั้น เราสามารถถามคำถามนั้นออกไปเลย สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้พูดคือความรับรู้ว่าคนฟังจะต้องเข้าใจประเด็นนั้นจริงๆ หรือหากไม่เข้าใจประเด็นไหนก็สามารถวิเคราะห์ได้จากคำถามนั้น บ่อยครั้งที่คนพูดจะพบว่าคำถามของคนฟังเป็นสิ่งที่เขาควรจะพูดหรือลืมพูด บางครั้งคนพูดอาจจะอดไม่ได้ที่จะเปรยออกมาว่า "เป็นคำถามที่ดี"

ตัวอย่างการสนทนา

คนพูด: วันนี้ไปพบลูกค้ามา เขาไม่ค่อยพอใจผลงานของเราเท่าไหร่ ต่อว่าบริษัทเราอยู่ตั้งนาน พี่ก็ฟังไปครับๆ เพราะไม่รู้รายละเอียดของงานชิ้นนี้เท่าไหร่
คนฟัง: เครียดเลยซิพี่
คนพูด: ใครบอก ไม่เลย เขาอุตสาห์วิจารณ์บริษัทเราให้เราฟังตรงๆ ได้ไอเดียมาปรับปรุงเยอะแยะ
คนฟัง: ดีจัง
คนพูด: ใช่ ต่อไปจะได้ไม่เกิดปัญหาอีกไง อย่างแรกต้องสัมภาษณ์ลูกค้าตอนจบโปรเจคเสมอ จะได้รู้ปัญหาทุกครั้งที่มีปัญหา ไม่ใช่ให้เขาไม่พอใจแล้วไปโพนทะนากับคนอื่น จะได้ขอโทษเขาด้วยไง
คนฟัง: สัมภาษณ์ลูกค้าตอนจบโปรเจค... อื้อ
คนพูด: แล้วก็ให้ลูกค้าประเมินความพอใจโปรเจคแมเนเจอร์ด้วย แล้วเอาคะแนนเนี้ยมารวมกับคะแนนประเมินภายในบริษัท อย่างนี้โปรเจคแมเนเจอร์มันต้องแคร์ความสัมพันธ์ของลูกค้าด้วย คราวนี้ระหว่างทำงาน โปรเจคแมเนเจอร์ก็ต้องโพสต์สถานะของโปรเจคในกรุ๊ป พอมีปัญหาทุกคนจะได้ช่วยแก้ไขตั้งแต่แรก ไม่ใช่งุบงิบทำกันไปจนลูกค้าได้รับผลกระทบ สามข้อนี่แหละ พี่ว่าจะให้เริ่มทำกันก่อนเลย
คนฟัง: จบโปรเจคต้องสัมภาษณ์ลูกค้าก่อน แล้วให้ประเมินโปรเจคแมเนเจอร์ด้วย แล้วระหว่างทำต้องโพสต์สถานะเสมอ
คนพูด: ไม่ใช่โพสต์สถานะในเฟซบุ้คนะ ต้องโพสต์ในกรุ๊ปจะได้ไม่มีคนอื่นเห็น
คนฟัง: ครับ แล้วงี้ โปรเจคแมเนเจอร์จะไม่เมคคะแนนให้ตัวเองเหรอ
คนพูด: เป็นคำถามที่ดีมาก เราก็ต้องให้ผู้จัดการเป็นคนสัมภาษณ์ลูกค้าไง
...

การฟังเป็นสิ่งที่สำคัญพอๆ กับการพูด แม้ว่าน้อยคนจะมีปัญหาในการพูด แต่มีคนจำนวนมากที่มีปัญหาในการฟัง การฟังเพื่อให้ได้ทั้งเนื้อหาและอารมณ์ ประกอบกับการใช้เครื่องมือโต้ตอบที่เหมาะสม จะช่วยขจัดปัญหาในการสื่อสาร ทั้งในความสัมพันธ์ส่วนตัว ในงาน และในธุรกิจ

ky_olsen